หิ่งห้อยเสี่ยงสูญพันธุ์! เหตุแสงไฟ ใช้ยาฆ่าแมลง รุกป่าชายเลน

หิ่งห้อยเสี่ยงสูญพันธุ์! – วันที่ 4 ก.พ. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า หิ่งห้อยกว่า 2,000 สายพันธุ์ทั่วโลกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์แล้ว หลังนักวิทยาศาสตร์พบจำนวนของพวกมันกำลังลดลง โดยสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การใช้ยาฆ่าแมลงในการเพาะปลูก และแสงจากหลอดไฟส่องสว่างที่มนุษย์สร้างขึ้น

หิ่งห้อยเสี่ยงสูญพันธุ์!

ศาสตราจารย์ ซารา ลูอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สาเหตุใหญ่ที่สุดมาจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับแมลงอีกหลายชนิด เพราะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อวงจรชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น หิ่งห้อยมาเลเซีย (Pteroptyx tener) ที่มีชื่อเสียงจากพฤติกรรมการเปล่งแสงประสานกันมีที่อยู่อาศัยเป็นป่าชายเลน แต่ปัจจุบันป่าดังกล่าวถูกทำลายเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกสวนปาล์ม และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ

หิ่งห้อยเสี่ยงสูญพันธุ์!

ศ.ลูอิส กล่าวว่า สาเหตุที่สร้างความแปลกใจให้นักวิทยาศาสตร์มากที่สุด คือ แสงจากหลอดไฟส่องสว่างของมนุษย์ในยามค่ำคืน เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดรองลงมาจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย โดยแสงประดิษฐ์นั้นรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ หรือป้ายโฆษณาเชิงพาณิชย์ รวมถึงไฟถนนด้วย

นายอวาลอน โอเวนส์ นักศึกษาปริญญาเอก หนึ่งในคณะนักวิจัย ระบุว่า แสงประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมีความสว่างยิ่งกว่าจันทร์เต็มดวงในคืน 15 ค่ำ ทั้งยังกระจายออกจากเมืองใหญ่และถนนหนทางไปทั่วพื้นที่ กลายเป็นมลภาวะทางแสงต่อหิ่งห้อยเหล่านี้








Advertisement

“แสงประดิษฐ์พวกนี้นอกจากจะรบกวนวงจรชีวิตของพวกมันและมนุษย์ ยังส่งผลใหญ่หลวงต่อการหาคู่ของหิ่งห้อยเพื่อสืบพันธุ์” โอเวนส์ ระบุ

หิ่งห้อยเสี่ยงสูญพันธุ์!

นศ.ปริญญาเอก อธิบายว่า ปกติแล้วหิ่งห้อยจะใช้ปฏิกิริยาของสารเคมีชีวภาพในตัวก่อให้เกิดการเปล่งแสงเพื่อหาคู่ แต่มลภาวะแสงที่มนุษย์สร้างขึ้นกลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อพฤติกรรมดังกล่าว การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟประหยัดพลังงานอย่างหลอดแอลอีดี ยิ่งเลวร้าย เพราะมีความสว่างกว่าเดิม

การศึกษาดังกล่าวพบว่า ปัจจุบันพื้นที่บนดาวเคราะห์โลกอย่างน้อยร้อยละ 23 นั้นมีแสงจากไฟประดิษฐ์ของมนุษย์ในยามค่ำคืน

กลุ่มสหภาพผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์หิ่งห้อยตามถิ่นฐานธรรมชาติ (UCNFSG) ระบุว่า การติดตามปริมาณประชากรและผลกระทบต่อหิ่งห้อยจากการกระทำของมนุษย์จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่ม แม้หลักฐานที่พบจะเป็นที่แน่ชัด แต่ขอบเขตของผลกระทบยังไม่ชัดเจน

หิ่งห้อยเสี่ยงสูญพันธุ์!

ศาสตราจารย์ เดฟ กอลสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยซัสเส็กซ์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า แม้สาเหตุหลักจะเป็นการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย แต่อีกสาเหตุที่ทำให้ปริมาณหิ่งห้อยลดลงเป็นวงกว้างทั่วโลกมาจากการใช้ยาฆ่าแมลงในการเพาะปลูกของมนุษย์

รายงานระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ขนานนามให้การลดลงของปริมาณหิ่งห้อยอย่างน่าวิตกว่า “มหันตภัยล้างเผ่าพันธุ์แบบเงียบ” โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อของแมลง ใช้กันอย่างกว้างขวางในการปลูกข้าวโพด และถั่วเหลือง ในสหรัฐ

อีกสาเหตุหนึ่งของการลดจำนวนลงของหิ่งห้อยมาจาก “อุตสาหกรรมท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมนันทนาการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหลายแห่ง อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย มีนักท่องเที่ยวเข้าชมกว่า 2 แสนคนต่อปี

การศึกษาดังกล่าวยังระบุถึงสาเหตุอื่นๆ เช่นในประเทศไทย มาจากการสัญจรทางเรือยนต์ใกล้ป่าชายเลน ทำให้ป่าถูกทำลาย และตลิ่งแม่น้ำเสื่อมสภาพ ขณะที่หิ่งห้อยในเม็กซิโกนั้นถูกมนุษย์ไล่กระทืบเพื่อความสนุกสนาน

รายงานสรุปว่า วงการวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีคู่มือมาตรฐานเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้คนและรัฐนำไปสู่นโยบายเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์หิ่งห้อย เพื่อให้แมลงเหล่านี้อยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ไปนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน