ตะพาบยักษ์แยงซี พบที่เวียดนาม ให้ความหวังยังไม่สูญพันธุ์จากโลก
ตะพาบยักษ์แยงซี – เดอะ การ์เดียน รายงาน การพบตะพาบยักษ์ชนิดใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในโลก Swinhoe’s softshell turtle (ชื่อวิทยาศาสตร์ Rafetus swinhoei) ที่เวียดนาม ให้ความหวังแก่นักอนุรักษ์ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเป็นการค้นพบทั้งเพศผู้และเพศเมีย
องค์กร WSC Vietnam แจ้งข่าวดีรับปีใหม่ ว่า พบตะพาบยักษ์ น้ำหนัก 86 กิโลกรัมตัวหนึ่งในทะเลสาบดองโม กรุงฮานอยและถูกจับมาตรวจดีเอ็นเอ เมื่อเดือน ต.ค. พบว่าตะพาบยักษ์ตัวนี้เป็นเพศเมีย
ส่วนตะพาบยักษ์อีกตัวหนึ่ง น้ำหนักประมาณ 130 กิโลกรัมที่อาศัยในทะเลสาบแห่งเดียวกัน นักอนุรักษ์คาดว่าน่าจะเป็นเพศผู้
นอกจากนี้ ยังมีตะพาบยักษ์เพศผู้อีกตัว อยู่ที่สวนสัตว์ซูโจวในประเทศจีน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อมั่นว่าตะพาบน้ำยักษ์จะมีโอกาสผสมพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนไม่ให้สูญพันธุ์เนื่องจากเป็นตะพาบยักษ์กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์มากที่สุดในโลก
ตะพาบน้ำยักษ์หรือรู้จักกันในชื่อของ “ตะพาบฮวานเกี๊ยม” หรือ “ตะพาบยักษ์แยงซี” กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่งเนื่องจากถูกคนล่าเพื่อกินเนื้อและไข่ รวมทั้ง ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของตะพาบยักษ์
แอนดริว วาลด์ จากองค์กรเทอร์เทิล เซอร์ไววัล อัลไลแอนซ์ ซึ่งให้คำปรึกษาแนะนำรัฐบาลเวียดนามเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์กล่าวว่าการพบตะพาบยักษ์ตัวเมียเป็นข่าวดีที่สุดในปีนี้และอาจจะเป็นข่าวดีในรอบ 10 ปีมานี้
ส่วนฮวง บิช ทุย ผู้อำนวยการองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าของเวียดนามกล่าวว่าในปีที่เต็มไปด้วยข่าวร้ายและความเศร้าโศกทั่วโลก การค้นพบตะพาบตัวเมียทำให้บางคนมีความหวังว่าสปีชีส์นี้จะมีชีวิตรอดต่อไป
ฮวงกล่าวว่าตะพาบยักษ์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเวียดนามในปี 2556 แต่ก่อนหน้านั้น ถ้ามีใครจับได้ก็จะแบ่งเนื้อให้กินกันทั้งครอบครัว รวมถึงญาติๆ และเพื่อนบ้าน ไข่ตะพาบยักษ์ก็จะนำมาดองเกลือเพราะชาวบ้านเชื่อว่าไข่เต่าเค็มจะช่วยรักษาโรคท้องร่วงได้และยังมีตะพาบอีกหลายตัวที่ถูกจับไปขายในจีน
นักอนุรักษ์ใช้เวลานานหลายสัปดาห์ค้นหาตะพาบยักษ์เพศเมียในทะเลสาบดองโมพื้นที่ 8,750 ไร่ จนเจอตะพาบตัวนี้ วัดความยาวได้ 1 เมตรและจับขึ้นมาเพื่อศึกษา 1 วัน ทั้งตรวจร่างกายและเก็บตัวอย่างเลือดซึ่งผลการตรวจพบว่ามันแข็งแรง สุขภาพดี จากนั้น จึงปล่อยลงทะเลสาบตามเดิม
ฤดูใบไม้ผลิปีนี้ คณะนักอนุรักษ์หวังว่าจะจับตัวที่ 2 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและเคยเห็นอยู่ในทะเลสาบดองโมเมื่อระดับน้ำลดต่ำที่สุดและอาจจะมีตะพาบยักษ์อีกตัวหนึ่งในทะเลสาบซวนคานห์ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตรวจดีเอ็นเอในตัวอย่างน้ำแล้ว
ส่วนตะพาบเพศเมียที่เคยอาศัยในเวียดนาม ตายไปเมื่อเดือน เม.ย. 2562 เคยถูกจับไปผสมพันธุ์กับตะพาบตัวผู้ในซูโจว แต่ไม่มีลูกด้วยกันตามธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ต้องผสมเทียม แต่ตัวเมียไม่ฟื้นตัวจากยาชา แม้ว่ากระบวนการให้ยาชาได้รับการรับรองความปลอดภัยก่อนหน้านี้ก็ตาม
ด้านทิโมธี แม็กคอร์มัค ผู้อำนวยการโครงการเต่าเอเชียเพื่อการอนุรักษ์ในอินโด–เมียนมา กล่าวว่าเมื่อรู้เพศของตะพาบยักษ์ในเวียดนามก็จะช่วยให้วางแผนขั้นต่อไปได้
รายงานในปี 2561 ระบุว่าตะพาบเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังประเภทหนึ่งที่เสี่ยงสูญพันธุ์มากที่สุดเพราะตะพาบกว่าร้อยละ 50 จาก 356 สปีชีส์สูญพันธุ์ไปแล้ว สาเหตุเกิดจากการทำลายถิ่นอาศัย การล่าเพื่อเป็นอาหารและยาแผนโบราณ รวมทั้ง การค้าสัตว์ผิดกฎหมายและมลภาวะ
จอห์น บีเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานกล่าวว่าตะพาบเป็นเหมือนไดโนเสาร์ที่ยิ่งใหญ่มาแล้วก็ไปและกำลังประสบวิกฤตสูญพันธุ์
ขณะที่สปีชีส์สัตว์น้ำจืดกำลังถูกคุกคามจากการกระทำของมนุษย์ทำให้ประชากรสัตว์เหล่านี้ลดลงไปร้อยละ 84 นับตั้งแต่ 50 ปีก่อน สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำการเกษตรและการก่อสร้างเขื่อนจำนวนมหาศาล
…………….
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เนปาลพบครั้งแรก “ตะพาบหับ” ผิวทองคำ สัตว์หายากจากภาวะด่างของเม็ดสี