โควิด: อียูยัวะ – วันที่ 26 ม.ค. บีบีซี รายงานสถานการณ์เร่งจัดหา วัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกผ่านหลัก 100 ล้านคนไปแล้ว ว่า สหภาพยุโรป หรือ อียู จะเข้มงวดกฎระเบียบยิ่งขึ้นในการส่งออก-ขายวัคซีนต้านโควิด-19 ภายหลังที่ผลเจรจากับบริษัท แอสตราเซเนกา สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ออกมาไม่น่าพอใจ

บริษัทเอกชนดังกล่าวขอลดจำนวนวัคซีนที่กำหนดส่งไปให้ชาติสมาชิกอียู 27 ประเทศ ลงจากที่เคยตกลงกันไว้เดิม ท่ามกลางความกดดันที่ชาติอียูถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า

น.ส.สเตลลา คีเรียคีเดส คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพอียู กล่าวว่า อียูจะทำทุกวิถีทางเพื่อคุ้มครองพลเมืองอียู จากนี้ไปทุกบริษัทที่ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ในอียูจะต้องมีการแจ้งเตือนตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อใดก็ตามที่บริษัทดังกล่าวต้องการที่จะส่งออกวัคซีนไปยังประเทศที่สาม เพราะรัฐสมาชิกอียูเห็นพ้องว่าผู้พัฒนาวัคซีนทั้งหลายควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสัญญาที่ผู้ผลิตวัคซีนจำเป็นต้องยึดถือ

REUTERS

รอยเตอร์ รายงานว่า ตามข้อตกลงเดิมแอสตราเซเนกาจะส่งวัคซีนราว 80 ล้านโดสไปยังชาติสมาชิกอียูทั้งหมดภายในเดือนมี.ค.นี้ แต่เนื่องจากปัญหาการผลิต อาจทำให้ต้องปรับลดตัวเลขลง และอาจส่งให้ได้เพียง 31 ล้านโดส หรือลดลงร้อยละ 60 ในไตรมาสแรกของปี 2564 แต่ต้องรอยืนยันอีกครั้ง

อียูมีกำหนดเจรจากับบริษัทแอสตราเซเนกาอีกรอบ วันพุธที่ 27 ม.ค. และปัจจุบัน บริษัทแอสตราเซเนก้ายังไม่ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของอียู หรื อีเอ็มเอ เพียงคาดว่าอาจได้รับอนุมัติภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้

AFP

ทั้งนี้ บริษัทแอสตราเซเนกาเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยมากขึ้น เมื่อบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ออกแถลงการณ์ชี้แจงโครงการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า บริษัทแอสตราเซนเนกาเป็นผู้เลือกสยามไบโอไซเอนซ์ให้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่มีมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก เพราะศักยภาพโรงงานมีมาตราฐานสากล เพื่อเป็นฐานการผลิตให้กับภูมิภาคอาเซียน พร้อมกับยืนยันว่าได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 600 ล้านบาท

อ่านข่าว: วัคซีนโควิด : สยามไบโอไซเอนซ์ ย้ำนโยบาย “ไม่กำไร ไม่ขาดทุน” โรงงานได้มาตรฐานสากล

 

อนามัยโลกเตือนเชื้อยังระบาดต่อ

วันเดียวกัน ดร.ไมเคิล ไรอัน กรรมการบริหารประจำโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาเตือนความเสี่ยงที่โรคโควิด-19 อาจแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง แม้มีการฉีดวัคซีนขนานใหญ่ในอนาคตอันใกล้ พร้อมเตือนนานาประเทศไม่ควรกำหนดให้การกำจัดหรือทำลายไวรัสเป็นสิ่งชี้วัดความสำเร็จ

หากให้ตัววัดความสำเร็จคือการลดฤทธิ์เดชของไวรัสที่จะคร่าชีวิตผู้คน ทำให้คนต้องเข้าโรงพยาบาล หรือสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและชีวิตทางสังคมของเรา ส่วนการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างยังไม่อยู่ในจุดที่จะหยุดยั้งการแพร่เชื้อได้เร็วๆ นี้ จึงมีแนวโน้มเผชิญการแพร่ระบาดต่อไป

“เรายังไม่ควรคาดหวังว่าจะกำจัดไวรัสได้ภายในปี 2021 เนื่องจากในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น เราเคยกำจัดโรคได้เพียงชนิดเดียวบนโลกใบนี้ นั่นคือไข้ทรพิษ พวกเราต้องไปถึงจุดที่ควบคุมไวรัสให้ได้” นายไรอันกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน