อินเดียลุ้นช่วยคนงานติดอุโมงค์ – วันที่ 9 ก.พ. บีบีซี รายงานความคืบหน้าการช่วยชีวิตเหยื่อจากเหตุที่ธารน้ำแข็งหิมาลัยชนเขื่อนจนน้ำทะลักท่วมฉับพลัน ที่รัฐอุตตราขัณฑ์ ทางเหนือของอินเดียว่า เจ้าหน้าที่กำลังเร่งค้นหาผู้สูญหายกว่า 170 คน พบศพแล้ว 26 ราย เชื่อว่าผู้ที่สูญหายส่วนใหญ่เป็นคนงานจากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ 2 แห่ง

นายตำรวจ ภานุดัต ไนร์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ช่วยได้ 12 คน จากฝั่งอุโมงค์อีกด้านหนึ่งเมื่อวันที่ 7 ก.พ. แต่อีก 34 คน ยังติดอยู่ปลายอุโมงค์อีกด้าน ปฏิบัติการช่วยชีวิตเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ หนึ่งในนั้นคืออุโมงค์รูปตัวยูยาวกว่า 2.7 กิโลเมตร สูง 20 เมตร ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่ามีคนงานกว่า 30 คน ติดอยู่ข้างในอุโมงค์ในจังหวะที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวเข้าท่วมอุโมงค์และพัดเอาหินดินมาด้วย

ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งจาก 12 คน เล่าว่า จังหวะประสบภัยต้องจับหลังคาของอุโมงค์ รอให้น้ำลดจึงปีนหินก้อนใหญ่ออกมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยอินเดียต้องฝ่าหินหนักหลายตันและดินโคลน เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตในอุโมงค์ที่ตันอยู่ ขณะนี้เคลียร์ได้แล้ว 120 เมตร แต่เจ้าหน้าที่ยังเข้าไปในอุโมงค์ไม่ได้ โดยเร่งขุดเอาสิ่งกีดขวางทางออกเพิ่ม ทำงานทั้งวันทั้งคืน ยังไม่ล้มเลิกเชื่อว่ามีอากาศภายในอุโมงค์ที่ทำให้คนงานยังมีชีวิตอยู่

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังติดต่อกับคนงานที่เหลือไม่ได้ตั้งแต่วันเกิดเหตุเมื่อ 7 ก.พ. จึงยากที่จะบอกว่าคนงานอยู่ที่ตรงส่วนไหนของอุโมงค์ และคนงานอยู่ด้วยกันหรือไม่ ขณะนี้ระดมกำลังทหารหลายร้อยนาย สารวัตรทหารและเฮลิคอปเตอร์ทหารเดินทางไปยังที่เกิดเหตุเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่กู้ภัย

 

โลกร้อนหรือเขื่อนทำธารน้ำแข็งถล่ม

ด้าน อินเดียทูเดย์ รายงานวิเคราะห์สาเหตุภัยดังกล่าวว่า โลกร้อนหรือการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอาจทำให้เกิดหายนภัยในรัฐอุตตราขัณฑ์ แม้ว่าสาเหตุของการที่ธารน้ำแข็งแตกออกอยู่ระหว่างสอบสวน แต่นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนมาเป็นเวลานานแล้วว่า ธารน้ำแข็งหลายแผ่นกำลังละลายหายไปจากโลก และสาเหตุใหญ่มาจากภาวะโลกร้อน

โดยเฉพาะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ยิ่งโลกร้อนขึ้น ยอดน้ำแข็งบนภูเขากำลังละลายอย่างรวดเร็ว โดยที่เทือกเขาหิมาลัยอาจสูญเสียธารน้ำแข็งในสัดส่วน 1 ใน 3 ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เป็นหายนะต่อประชาชน 2 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในและรอบๆ แนวเทือกเขาในประเทศอินเดียและชาติเพื่อนบ้าน

ในเดือนก.ค.ปี 2563 ผู้เชี่ยวชาญเตือนเกี่ยวกับการละลายของธารน้ำแข็งในพื้นที่นันทาเทวี ผลการวิจัยจากสถาบันวาเดียว่าด้วยธรณีวิทยาหิมาลัยแสดงว่าเกือบ 26 ตารางกิโลเมตรของพื้นที่ที่ถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งในพื้นที่นันทาเทวีจะหายไปภายใน 37 ปี

แต่นักวิทยาศาสตร์อีกฝั่งสันนิษฐานว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ กิจกรรมก่อสร้างเขื่อนและการทำเหมืองเรือขุดที่ร่องสายน้ำใหญ่เพื่อให้ได้ทรายมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

นายรัจ ภากาต พาลานิชมัย นักวิจัยอิสระกล่าวว่า การสอบสวนในเบื้องต้นแสดงว่า หายนภัยดังกล่าวเกิดจากดินถล่ม แต่ยังต้องค้นคว้าเพิ่มเพื่อสรุปว่าหายนะเกิดจากฝีมือมนุษย์หรือไม่ ซึ่งเคยเกิดเหตุลักษณะนี้มาแล้วในปี 2559 แต่อาจจะผลกระทบน้อยกว่า ซึ่งล้วนบ่งชี้ว่าเป็นภูมิภาคที่อ่อนไหวอย่างมาก ผู้คนคงไม่เสียชีวิตหากเราเลี่ยงสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการในพื้นที่อ่อนไหว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อินเดียเร่งช่วยคนงาน37ชีวิต ติดค้างในอุโมงค์ ถูกธารน้ำแข็งถล่ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน