แฉผุดในป่าเบลารุส – วันที่ 5 ส.ค. ซีเอ็นเอ็น เผยแพร่วิดีโอของสิ่งปลูกสร้างที่อาจเป็นค่ายนักโทษสำหรับผู้เห็นต่างทางการเมืองในเบลารุส ซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นใกล้เมืองโนโวโคโลโซโว ห่างจากกรุงมินสค์ เมืองหลวง ใช้เวลาขับรถราว 1 ชั่วโมง ตั้งอยู่บนพื้นที่จัดเก็บขีปนาวุธในยุคโซเวียต ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 200 เอเคอร์ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า งบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้หมดไปเท่าไร

สิ่งปลูกสร้างได้รับการปรับปรุงใหม่ ติดตั้งรั้วไฟฟ้า 3 ชั้น กล้องวงจรปิด และป้ายข้อความ “ห้ามเข้า” พร้อมทหารยาม 1 นาย ส่วนบานหน้าต่างติดตั้งเหล็กดัดและกระจกสะท้อนแสง ทั้งหมดมีแต่ความว่างเปล่าและลึกเข้าไปในผืนป่า

รายงานระบุว่า นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านเบลารุสแสดงความกลัวมาระยะหนึ่งแล้วว่า รัฐบาลเผด็จการการอาจหันไปใช้ค่ายกักกันแห่งนี้ หากเรือนจำทั่วไปเต็ม และมีความกังวลมากขึ้นที่จะถูกปราบปรามและจับกุมในการประท้วงในวันที่ 9 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อรำลึกครบรอบ 1 ปี การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีความไม่ชอบมาพากล หลังนายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่หก กลายเป็นตัวจุดชนวนการประท้วงทั่วประเทศ นอกจากนี้ อาจมีความวุ่นวายอีกครั้งในการลงประชามติตามรัฐธรรมนูญเบลารุสที่จะมีขึ้นปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 ด้วย

ฟรานัค เวียซอร์คา ที่ปรึกษาระดับสูงของสเวียตลานา ตีฮานอฟสกายา ผู้นำฝ่ายค้านเบลารุสที่ลี้ภัยไปลิทัวเนีย กล่าวถึงวิดีโอสิ่งปลูกสร้างลึกลับนี้ว่า

“ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค พยายามสร้างอะไรเหมือนค่ายนักโทษปกติ เนื่องจากคลื่นการประท้วงลูกใหม่จะมาได้ทุกเมื่อ ซึ่งจุดชนวนจากคำพูดของผู้นำเบลารุส และสภาพเศรษฐกิจ แต่คลื่นการประท้วงดังกล่าวจะเกิดขึ้น ผู้นำเบลารุสจึงเข้าใจและยังต้องการเตรียมพร้อมมากกว่าปีที่แล้วด้วย”

 

บรรดาผู้เห็นต่างรัฐบาลในเบลารุสเมื่อเดือนส.ค. 2563 กล่าวว่า ถูกตำรวจคุมขังในค่ายกักกันเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งดัดแปลงชั่วคราวมาจากสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด

นอกจากนี้ เมื่อเดือนต.ค. 2563 กลุ่มนักเคลื่อนไหวอดีตเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงเบลารุส (ByPol) เผยแพร่บันทึกเสียงที่ระบุว่าเป็นของนายนีโคไล คาร์เปนคอฟ รัฐมนตรีมหาดไทยเบลารุส พูดว่า จำเป็นต้องสร้างค่ายนักโทษใหม่เพื่อกักขังและปรับทัศนคติบรรดาผู้ประท้วงหัวก้าวหน้า และเสนอสร้างค่ายจากเรือนจำเก่าในเมืองอีวัตเซวีชี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเบลารุสประณามบันทึกเสียงดังกล่าวว่าเป็นของ “ปลอม”

 

ซีเอ็นเอ็นไม่สามารถเข้าถึงภายในสิ่งปลูกอาคารดังกล่าวได้ และไม่มีวี่แววว่าค่ายดังกล่าวกักขังนักโทษแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองชาติตะวันตกบอกซีเอ็นเอ็นว่า การใช้สถานที่นี้เป็นค่ายกักกัน มีความ “เป็นไปได้” แม้จะไม่มีหลักฐานโดยตรง

บรรดาผู้อยู่อาศัยในเมืองโนโวโคโลโซโวเรียกสถานที่ดังกล่าวเป็น “ค่าย” ผู้อยู่อาศัยรายหนึ่งได้รับคำสั่งออกพื้นที่จากทหารเมื่อไม่นานนี้ หลังเข้าไปใกล้สถานที่ดังกล่าว

“เพื่อนฉันคนหนึ่งเป็นคนงานก่อสร้าง บอกฉันว่า พวกเขาปรับปรุงสถานที่นี้ใหม่ ลวดหนามมี 3 ชั้นและเป็นแบบไฟฟ้า ส่วนฉันกำลังเก็บเห็ดที่นี่ ทหารคนหนึ่งเข้ามาหาฉันและบอกว่า ฉันเดินไปที่นั่นไม่ได้” นอกจากนี้ ผู้เห็นเหตุการณ์อีก 2 คน สังเกตทหารลาดตระเวนด้วย

https://cdn.cnn.com/cnn/.e/interactive/html5-video-media/2021/08/04/FINAL_belarus_loop_HP.mp4

ภาพถ่ายของค่ายลึกลับปรากฏขึ้น หลังทางการเบลารุสปราบปรามสื่ออิสระที่เหลือในประเทศเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และหลังวิกฤตภายในประเทศเบลารุสได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ส.ค. คริสตีนา ตีมานอฟสกายา นักวิ่งโอลิมปิกสาวเบลารุส ที่เดินทางไปเข้าร่วมในการแข่งขันโตเกียว 2020 เผยว่าถูกบังคับไปสนามบินในกรุงโตเกียว หลังวิจารณ์เจ้าหน้าที่โอลิมปิกชาวเบลารุสในอินสตาแกรม และจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจญี่ปุ่นเพื่อไม่ถูกส่งกลับบ้านเกิด ต่อมา เดินทางไปกรุงวอร์ซอของโปแลนด์เมื่อวันพุธที่ 7 ส.ค. ซึ่งได้รับข้อเสนอลี้ภัยและวีซ่ามนุษยธรรม

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติเบลารุสกล่าวว่า เธอถูกถอดออกจากทีมโอลิมปิกเนื่องจากมีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ แต่เจ้าตัวปฏิเสธ

 

หรือล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 6 ส.ค. กรณีที่นายวีตาลี ชีชอฟ ซึ่งถูกพบเป็นศพแขวนคอพร้อมรอยถลอกตามร่างกาย ในสวนสาธารณะนอกกรุงคีฟ เมืองหลวงของยูเครน และตำรวจกำลังสืบสวนความเป็นไปได้ของการฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรมนั้น เขย่าขวัญฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเบลารุสมากขึ้นเรื่อยๆ

รวมถึงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเบลารุสสั่งเครื่องบินโดยสารที่จะออกนอกประเทศวกกลับมาเพื่อจับกุมนายโรมัน โปรตาเซวิช นักข่าวผู้วิจารณ์รัฐบาลเบลารุส กลายเป็นเหตุการณ์ที่บรรดาผู้นำชาติตะวันตกระบุว่าเป็น “การจี้เครื่องบินโดยรัฐ”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เบลารุส ชาติที่ผู้เห็นต่างจาก “เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป” สูญหายหรือตายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นักกรีฑาสาว เบลารุส ผู้หนีการถูกส่งกลับบ้าน บินออกจากญี่ปุ่นแล้ว

เครื่องบินเบลารุส: เกิดอะไรขึ้นเมื่อเครื่องบินทหารเข้าสกัดเครื่องบินโดยสารพลเรือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน