ย้อน 30 ปี กลุ่มคอมมิวนิสต์สายแข็งก่อรัฐประหาร สู่จุดจบของสหภาพโซเวียต

ถอดความจากรายงานของ วลาดีมีร์ อีซาเชนคอฟ แห่งสำนักข่าว เอพี

AP Photo/Boris Yurchenko, File

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โลกตะลึงกับเหตุการณ์กลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ยึดอำนาจประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำประเทศ และส่งรถถังเคลื่อนเต็มกรุงมอสโก เพื่อต้องการล้มเลิกนโยบายปฏิรูปให้สหภาพโซเวียตเป็นเสรีนิยม และกลับมาเผชิญหน้าในสงครามเย็นอีกครั้ง

แต่ความพยายามรัฐประหารพังทลายในเวลาเพียง 3 วัน และนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในอีก 4 เดือนต่อมา ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้วางแผนยึดอำนาจอ้างว่าพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

ความพยายามรัฐประหารเริ่มต้นเมื่อเหล่าทหารนายร้อยระดับสูงของประธานาธิบดีกอร์บาชอฟเดินทางไปพบผู้นำที่บ้านพักตากอากาศในทะเลดำ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. เพื่อขอให้ผู้นำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และพยายามหยุดการลงนามในสนธิสัญญาสหภาพระหว่างสาธารณรัฐย่อยของโซเวียต 15 รัฐ ซึ่งประธานาธิบดีกอร์บาชอฟมองว่าเป็นหนทางที่จะไม่ให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟปฏิเสธที่จะรับรองประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้วางแผนก่อรัฐประหารจึงตัดช่องทางการติดต่อสื่อสาร และกักบริเวณผู้นำสหภาพโซเวียตที่บ้านพักแห่งนั้น

เช้าวันถัดมา 19 ส.ค. 2534 ประชาชนสหภาพโซเวียตตื่นขึ้นมาชมการถ่ายทอดสดการแสดงบัลเลต์ “สวอนเลค” แห่งโรงละครบอลชอย และผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ของทางการอ่านแถลงการณ์สั้นๆ ที่ประกาศว่า นายกอร์บาชอฟไม่เหมาะที่จะบริหารประเทศเนื่องด้วยเหตุผลสุขภาพ

แถลงการณ์ระบุว่า มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งรัฐว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อกอบกู้ประเทศจากการเข้าสู่ “ความโกลาหลและอนาธิปไตย”

AP Photo, File

ในเวลาเดียวกัน รถถังหลายร้อยคันและยานเกราะอื่นๆ เคลื่อนเข้าสู่กรุงมอสโก อันเป็นการแสดงแสนยานุภาพยิ่งใหญ่ แต่ประชาชนหลายพันคนต่อต้านรัฐประหารรีบมารวมตัวกันรอบที่ทำการรัฐบาลของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (1 ใน 15 สาธารณรัฐย่อยของสหภาพโซเวียต) ที่มีผู้นำคือนายบอริส เยลต์ซิน ผู้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในฐานะผู้นำกองกำลังสนับสนุนประชาธิปไตย และทำให้คณะผู้ทำรัฐประหารยังลังเล

นายวลาดีมีร์ ครุชคอฟ หัวหน้าคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเคจีบี และสุดยอดผู้บงการเบื้องหลังรัฐประหาร แม้จะมีหน่วยคอมมานโดอัลฟาของเคจีบีล้อมรอบที่พักของนายเยลต์ซิน ใกล้กรุงมอสโก แต่ไม่เคยออกคำสั่งจับกุมนายเยลต์ซินเลย ทำให้นายเยลต์ซินขับรถไปที่ทำการรัฐบาลของเขาได้

AP Photo/Boris Yurchenko, File

นายเกนนาดี บูร์บูลิส ผู้ช่วยระดับสูงของนายเยลต์ซินในเวลานั้น ให้สัมภาษณ์กับเอพี ว่า “เราตัดสินใจพยายามไปที่ทำการรัฐบาลแม้จะมีความเสี่ยงก็ตาม”

ขณะที่กองทหารบางส่วนที่ล้อมรอบทำเนียบรัฐบาลรัสเซียยังเข้าร่วมกับผู้ประท้วง ส่วนนายเยลต์ซินเมื่อขับรถมาถึง จึงปีนขึ้นไปบนรถถังที่ถูกส่งมากีดขวางที่ทำเนียบรัฐบาล และเรียกร้องด้วยแรงกล้าให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐประหาร

นายบูร์บูลิสเผยว่า ตอนนั้นพยายามกีดกันไม่ให้นายเยลต์ซินขึ้นไปบนรถถังเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง แต่นายเยลต์ซินไม่ฟัง “นี่เป็นลักษณะของนายเยลต์ซินที่จะปกป้องสิ่งที่เขาเห็นว่าถูกต้องอย่างเด็ดเดี่ยวและไม่สะทกสะท้านใดๆ”

ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เห็นได้ชัดว่ารัฐประหารเริ่มพังทลาย เมื่อผู้ก่อการรัฐประหารปรากฏตัวในงานแถลงข่าว แต่เหงื่อตกและพูดติดอ่าง บางคนไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้มือสั่นได้ ขณะพยายามตอบโต้การยิงคำถามดุเดือดจากสื่อมวลชน

ต่อมา เย็นวันเดียวกัน โทรทัศน์ของทางการแพร่ภาพผู้วางแผนรัฐประหารในสภาพประหม่าและไม่แน่วแน่ พร้อมกับภาพของนายเยลต์ซินผู้ท้าทายรัฐประหารบนรถถัง ซึ่งเป็นภาพที่ไม่สามารถเปรียบได้มากกว่านี้

นายวิคเตอร์ อัลค์สนิส สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สายแข็งแห่งสภาโซเวียต ซึ่งสนับสนุนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พูดถึงผู้วางแผนก่อรัฐประหารว่า “ขาดเจตจำนงทางการเมืองและความเต็มใจที่จะรับผิดชอบต่อประเทศชาติ”

AP Photo/Boris Yurchenko, File

วันถัดมา 20 ส.ค. 2534 ประชาชนมากถึง 200,000 คน มารวมตัวกันใกล้ที่ทำการรัฐบาลรัสเซีย เพื่อต่อต้านรัฐประหาร โดยวางสิ่งกีดขวาง เดินไปตามถนน และเพิกเฉยคำสั่งเคอร์ฟิวของผู้นำรัฐประหาร ซึ่งนายบูร์บูลิสกล่าวว่า “มีความตื่นเต้น ความกระตือรือร้น ความตั้งใจ และความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการรวมตัวของเราและชัยชนะในที่สุด”

ขณะที่พันธมิตรของนายเยลต์ซินอีกคน คือ นายอันเดรย์ ดูนาเยฟ รองรัฐมนตรีกิจการภายใน รีบมีคำสั่งให้นักเรียนนายร้อยตำรวจราว 10,000 นาย เดินทางมากรุงมอสโก เพื่อใช้อาวุธปกป้องที่ทำการของนายเยลต์ซิน ซึ่งนายดูนาเยฟกล่าวว่าได้ช่วยกีดกันผู้วางแผนรัฐประหารจากการใช้กำลัง “พวกเขาตัดสินใจว่าจะมีการนองเลือดมากเกินไป” นายดูนาเยฟกล่าว

ท่ามกลางความตึงเครียดมากมาย เกิดการปะทะรุนแรงระหว่างกองทหารและกลุ่มผู้ประท้วงในอุโมงค์ลอดถนนที่อยู่ห่างจากที่ทำการรัฐบาลรัสเซียไม่ถึง 1 กิโลเมตร มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 3 ราย และอีกหลายคนบาดเจ็บ กลุ่มผู้ประท้วงจึงนำรถบัสมากั้นถนน เนื่องจากกลัวว่าขบวนรถหุ้มเกราะจะมุ่งหน้าโจมตีและยึดที่ทำการรัฐบาลรัสเซีย

AP Photo/Boris Yurchenko, File

นายเกนนาดี เวเรทิลนี ชาวยูเครน ผู้เข้าร่วมต่อต้านรัฐประหาร ให้สัมภาษณ์เอพีว่า ตอนนั้นได้รับบาดเจ็บขณะพยายามช่วยนายดมีตรี โคมาร์ ผู้ประท้วงอีกคนที่เสียชีวิตหลังติดอยู่ใต้รถหุ้มเกราะคันหนึ่ง

“พวกรถหุ้มเกราะพุ่งชนรถบัสไฟฟ้าและพยายามดันรถบัสเหล่านั้นออกไป ผมเห็นชายคนหนึ่งห้อยลงมาจากประตูท้ายรถหุ้มเกราะ ผมจึงวิ่งไปหาเขา เอื้อมมือเพื่อดึงเขาออกมา และเสียงปืนดังมาจากตรงนั้น ผมรู้สึกแสบร้อนและเจ็บปวด” นายเวเรทิลนีย้อนความหลัง

หลายชั่วโมงหลังการปะทะกัน จอมพลดมีตรี ยาซอฟ รัฐมนตรีกลาโหมแห่งโซเวียต สั่งกองทหารถอนกำลังออกจากกรุงมอสโก ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ผู้ก่อรัฐประหารบางคนบินไปบ้านพักในทะเลดำของนายกอร์บาชอฟเพื่อพยายามเจรจา ทว่านายกอร์บาชอฟปฏิเสธที่จะพบด้วย

สุดท้าย คณะผู้วางแผนก่อรัฐประหารถูกจับกุม ส่วนนายกอร์บาชอฟบินกลับไปกรุงมอสโคว์เมื่อวันที่ 22 ส.ค. เพียงเพื่อดูอำนาจของตัวเองลดน้อยลง ขณะที่นายเยลต์ซินขึ้นมาเป็นผู้คุมอำนาจแทน

AP Photo/Boris Yurchenko, File

นายอันเดอร์ กราชอฟ ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกของนายกอร์บาชอฟ เมื่อปี 2534 กล่าวว่า “นายกอร์บาชอฟถูกผู้ก่อรัฐประหารคุมขังที่บ้านพักในทะเลดำ 3 วัน แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวและมีโอกาสเดินทางกลับกรุงมอสโก กลายมาเป็นตัวประกันของนายเยลต์ซิน เนื่องจากเป็นหนี้บุญคุณนายเยลต์ซินที่ทำให้ตัวเองถูกปล่อยตัว นายเยลต์ซินกลายเป็นนักแสดงทางการเมืองหมายเลขหนึ่งในฉากของโซเวียต”

ไม่ถึง 4 เดือนหลังจากนั้น นายเยลต์ซิน และบรรดาผู้นำรัฐบริวารโซเวียตอื่นๆ ประกาศว่า สหภาพโซเวียตล่มสลายแล้ว ส่วนนายกอร์บาชอฟก้าวลงจากอำนาจเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2534 ส่วนผู้วางแผนก่อรัฐประหารที่ถูกจับกุมถูกไต่สวนแต่ได้รับนิรโทษกรรมในปี 2537

นายกราชอฟแย้งการตัดสินใจของนายกอร์บาชอฟที่ประเมินต่ำเกินไปถึงอันตรายของเหล่าทหารนายร้อยสายสายแข็งที่ยึดอำนาจเขา “นายกอร์บาชอฟคิดว่า พวกเขาเป็นคนธรรมดาเกินไป ไม่สามารถจัดการเรื่องจริงจัง หรือท้าทายเขาได้”

AP Photo, File

ด้านนายกอร์บาชอฟ ตอนนี้วัย 90 ปี เพิ่งพูดถึงเหตุการณ์รัฐประหารด้วยความขมขื่นว่า เป็นระเบิดมฤตยูต่อสหภาพโซเวียต

“3 วันที่ถูกคุมขังนั้นเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดในชีวิตของผม” นายกอร์บาชอฟเขียนในบันทึกส่วนตัว

นอกจากนี้ แถลงการณ์ของเจ้าตัวเมื่อวันพุธที่ 18 ส.ค. เผยว่า “ผู้ก่อรัฐประหารแบกความรับผิดชอบหนักอึ้งต่อการล่มสลายของสหภาพโซเวียต”

AP Photo/Alexander Zemlianichenko, File

ขณะที่นายบูร์บูลิส ผู้ช่วยระดับสูงของนายเยลต์ซิน คร่ำครวญถึงความล้มเหลวของประเทศในการกำจัดอดีตเผด็จการของประเทศ

ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งกล่าวถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็น “ภัยพิบัติทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20” ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงการริดรอนเสรีภาพยุคหลังโซเวียตอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปี ของการดำรงตำแหน่ง

และในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทางการรัสเซียเพิ่มการปราบปรามนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านและสื่ออิสระก่อนการเลือกตั้งรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งถูกมองเป็นส่วนสำคัญของความพยายามของประธานาธิบดีปูตินในการอยู่ในอำนาจไปอีกหลายปีข้างหน้า

“30 ปีต่อมา เรายังติดอยู่กับแนวคิดหลังจักรวรรดิ อำนาจกลายเป็นของมีค่าสูงสุดสำหรับบางคน พร้อมจำกัดเสรีภาพและการควบคุมเหนือประชาชน ไม่ต้องพูดถึงการจำกัดเสรีภาพในการเลือกตั้งโดยตรง” นายบูร์บูลิสกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รัสเซียเปิดเทปลับ ยุคโซเวียตทดสอบ “ซาร์บอมบา” ระเบิดนิวเคลียร์ลูกใหญ่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน