พม่าไม่โผล่เวทีอาเซียน – วันที่ 26 ต.ค. รอยเตอร์ รายงานว่า เมียนมาไม่ได้ส่งตัวแทนใดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38/39 ผ่านระบบการประชุมทางไกลในวันแรกของการประชุมวันที่ 26-28 ต.ค. ตามที่โฆษกคณะรัฐบาลทหารแถลงไว้ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน อ้างว่าจะกระทบต่ออธิปไตยและภาพลักษณ์ที่ถูกแทรกแซงกิจการภายในประเทศ

 

การแสดงออกของเมียนมาดังกล่าวตอบโต้ที่อาเซียนมีมติไม่เชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เพื่อแสดงปฏิกิริยาให้ทราบว่าเมียนมาอาเซียนไม่อาจดูดายได้หากเมียนมายังไม่ดำเนินการใดๆ ตามฉันทามติที่มีร่วมกันกับอาเซียนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงจากเหตุรัฐประหาร 1 ก.พ.2564

พม่าไม่โผล่เวทีอาเซียน

ช่องการประชุมของเมียนมากลายเป็นพื้นที่ว่าง ไม่มีตัวแทนเข้าร่วมประชุมอาเซียน ระหว่างองค์สุลต่านบรูไน ตรัสเปิดการประชุมอาเซียน-จีน เมื่อ 26 ต.ค. (Photo by Hakim S. Hayat / AFP)

นายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียทวีตข้อความสนับสนุนบรูไน ชาติเจ้าภาพจัดการประชุมนี้ที่ตัดสินใจในการเชิญตัวแทนจากเมียนมาที่ไม่ได้มาจากฝ่ายการเมือง

ส่วนนายลี เซียนลุง นายกฯ สิงคโปร์กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนเมียนมามีผลต่อสถานะความเชื่อมั่นของอาเซียนโดยรวม

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำของไทยที่เคยทำรัฐประหารมาก่อน กล่าวว่า การรับมือเรื่องเมียนมาเป็นบททดสอบที่อาเซียนต้องทำร่วมกัน

พม่าไม่โผล่เวทีอาเซียน

Singapore’s Prime Minister Lee Hsien Loong (C) taking part in the 39th Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) summit held online on a live video conference in Bandar Seri Begawan, Brunei. (Photo by Handout / ASEAN Summit 2021 / AFP) /

สำหรับการประชุมวันที่ 26 ต.ค. มี 3 การประชุมแยกระหว่างอาเซียนกับผู้แทนชาติพันธมิตร 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีนและเกาหลีใต้ โดยการประชุมสหรัฐ-อาเซียน มีประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเป็นประธาน

ขณะที่สหรัฐแสดงท่าทีชัดเจนบนเวทีอาเซียนในการรับรองคณะผู้แทนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ รัฐบาลเงาเมียนมาตั้งโดยกลุ่มพลเรือนที่ต่อต้านการรัฐประหาร

นายเจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาพบหารือผ่านทางการประชุมทางไกลกับกับนายตูวา ลาชี ลา และนายซิน มาร์ ออง สองผู้แทนจากรัฐบาลเงา ย้ำถึงความสนับสนุนของสหรัฐต่อการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาที่จะดำเนินต่อไปและหารือถึงความพยายามที่จะฟื้นกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในเมียนมา

นายเจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา

พร้อมแสดงความกังวลต่อความรุนแรงโหดร้ายของทหารเมียนมารวมถึงกังวลกรณีการจับกุมนายโค จิมมี นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเร็วๆ นี้

นอกจากนี้สหรัฐยังย้ำว่า สนับสนุนอาเซียนที่จะทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาทำตามพันธกรณีตามหลักฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน อีกทั้งจะส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปถึงประชาชนชาวเมียนมาโดยตรง

มิน อ่อง ไหล่ ย้ำอีกเลือกตั้งหลังประเทศสงบ

เมื่อครั้งเมียนมาเห็นชอบฉันทามติอาเซียน / Senior General Min Aung Hlaing meeting with Brunei’s Second Minister of Foreign Affairs Erywan Yusof and ASEAN Secretary-General Lim Jock Hoi in Naypyidaw. (Photo by Handout / MYANMAR NEWS AGENCY / AFP)

สำหรับฉันทามติ 5 ข้อ ที่เมียนมาตกลงกับอาเซียน ได้แก่ ต้องยุติความรุนแรงทันที และทุกฝ่ายต้องใช้ความอดกลั้น ต้องมีการหารืออย่างสร้างสรรค์จากทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกอย่างสันติบนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน

ผู้แทนพิเศษอาเซียนจะเป็นสื่อกลางของกระบวนการหารือและประสานความช่วยเหลือจากอาเซียน เปิดทางให้กับภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน

สุดท้ายคือปิดทางผู้แทนพิเศษอาเซียนเดินทางเข้าหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อสุดท้ายนี้รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาไม่ยินยอมให้อาเซียนเข้าเยี่ยมนางออง ซาน ซู จี

+++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เผด็จการพม่าขู่บอยคอตถกอาเซียน ยัวะมติไม่เชิญ’มินอ่องไหล่’

พม่าโวยอาเซียน ไม่เชิญร่วมซัมมิต – พรรคแนวร่วมทหาร จี้เปิดเจรจาฝ่ายต้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน