เผด็จการพม่าขู่บอยคอตถกอาเซียน ยัวะมติไม่เชิญ’มินอ่องไหล่’
เผด็จการพม่าขู่บอยคอตถกอาเซียน – วันที่ 25 ต.ค. ซีเอ็นเอรายงานว่า รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา (พม่า) ขู่จะไม่ส่งคณะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน หลังอาเซียนไม่อนุญาตให้พลเอกอาวุโส มิน อ่องไหล่ เข้าประชุม
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจะมีขึ้นระหว่าง 26 ถึง 28 ต.ค.นี้ ที่ประเทศบรูไน โดยนายซอว์ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารพม่า กล่าวโจมตีว่า มติไม่เชิญพล.อ.อาวุโส มิน อ่องไหล่ ของอาเซียนนั้นทำลายหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอาเซียน
นายซอว์ กล่าวว่า ทางอาเซียนเชิญผู้แทนที่ไม่ใช่นักการเมืองของพม่าไปเข้าร่วมประชุมแทน โดยเป็นบุคคลระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศของพม่า อย่างไรก็ดี ทางการพม่ายังไม่ยืนยันว่าจะตอบรับเดินทางไปเข้าร่วมหรือไม่ เพราะอาจส่งผลกระทบต่ออธิปไตยและภาพลักษณ์
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของอาเซียนเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลทหารพม่าไม่อนุญาตให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนเข้าเยี่ยมนางออง ซาน ซู จี จากเดิมมีกำหนดจะเดินทางลงพื้นที่และเข้าเยี่ยมฝ่ายการเมืองทุกฝ่าย
วันเดียวกัน รอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศพม่า แถลงโจมตีผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น จำนวน 2 คน ว่าใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือมาใส่ร้ายป้ายสีรัฐบาล และละเมิดอำนาจอธิปไตยของพม่า
แถลงการณ์โจมตีผู้แทนยูเอ็นของพม่านั้นเกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะมิคสัญญีทางการเมืองและความรุนแรงจากการปราบปรามกลุ่มผู้ต่อต้านของหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งรัฐบาลทหารพม่า ถือว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ซึ่งเป็นแนวร่วมกันกับรัฐบาลเงา
กระทรวงการต่างประเทศพม่า ระบุว่า รายงานของนางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ และนายทอม แอนดรูวส์ ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นนั้นคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงไปมาก และสะท้อนอคติของยูเอ็น
“ทางการพม่าไม่สามารถยอมรับองค์กรที่มีเจตนานำไปสู่เป้าหมายแอบแฝงใดๆ และการนำประเด็นสิทธิมนุษยชนมาใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงกิจการภายในของพม่าได้”
รายงานของนางบูร์เกเนอร์ ระบุไว้ว่า กองทัพพม่าไม่มีความสนใจต่อการผ่อนปรน หรือการเจรจา ทำให้โอกาสที่ประชาคมโลกจะช่วยนำพม่ากลับมาสู่เส้นทางที่ถูกต้องนั้นคับแคบลง
ทางการพม่าตอบโต้รายงานดังกล่าวว่า นางบูร์เกเนอร์ อ้างอิงข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ กล่าวหาเลื่อนลอยโดยไร้รายละเอียด ทั้งยังช่วยลดทอนความรุนแรงจากฝีมือของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพม่า ตลอดจนล้มเหลวที่จะระบุถึงต้นเหตุของการยึดอำนาจ ว่ามาจากเหตุโกงการเลือกตั้งครั้งมโหฬาร (ซึ่งพม่าไม่เคยแสดงหลักฐานใดๆ ที่ชัดเจนต่อประชาคมโลก)
“คำถามที่ต้องถามมากที่สุดในตอนนี้ คือ ความน่าสงสัยต่อจรรยาบรรณของผู้แทนยูเอ็น ซึ่งความน่าสงสัยนี้กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศพม่า ระบุ
ขณะที่รายงานของนายแอนดรูว์ เมื่อ 22 ต.ค. ซึ่งกล่าวหาเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของพม่าถึงการทรมาน กักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดกฎหมาย ลักพาตัว และการบังคับเคลื่อนย้ายพลเรือน นั้นทางการพม่าตอบโต้เช่นเดียวกัน ว่าอ้างอิงจากข่าวลือ และแหล่งข่าวที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์
“จะสามารถสังเกตได้ว่าผู้แทนพิเศษของยูเอ็นนั้นนำข่าวโคมลอยมาใช้เป็นข้อมูลนำไปสู่ข้อสรุปได้อย่างรวดเร็ว” แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศพม่า ระบุ
ทั้งนี้ การยึดอำนาจของกองทัพพม่าเมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวพม่าลุกขึ้นต่อต้านและเกิดความรุนแรงแผ่ขยายไปทั่วประเทศ โดยชาวพม่าบางส่วนหันไปติดอาวุธภายใต้ธงแนวร่วมกองกำลังแห่งชาติ ที่เป็นกองกำลังผสมของหน่วยรบชาติพันธุ์ ภายใต้การนำของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่หนีรอดจากการยึดอำนาจสถาปนาขึ้น