ยืนยัน “ฟอสซิลรอยเท้า” – ซินหัว รายงานว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนยืนยันว่า ฟอสซิลรอยเท้า ที่ค้นพบในเมืองฮามี่ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นฟอสซิลของไดโนเสาร์กินเนื้อที่เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อมากกว่า 120 ล้านปีก่อน
คณะวิจัยนำโดยสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ค้นพบรอยเท้าขนาดเล็กทั้งหมด 9 รอย บริเวณ “แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ในแอ่งถู่ฮา-แอ่งฮามี่” ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
การประเมินจากความยาวของรอยเท้าไดโนเสาร์เหล่านี้พบว่ามีความสูงของสะโพกราว 65 เซนติเมตร ลำตัวยาว 171 เซนติเมตร และน้ำหนัก 30 กิโลกรัม บ่งชี้ว่ารอยเท้าเกิดจากไดโนเสาร์กลุ่ม “เทโรพอด” ขนาดเล็ก และสรุปว่าน่าจะเหยียบทิ้งไว้ตามแนวชายฝั่งทะเลสาบน้ำตื้น หลังจากศึกษาร่องรอยของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง โครงสร้างเชิงตะกอน และชั้นหินในพื้นที่ที่ค้นพบรอยเท้าแล้ว
ทีมวิจัยยังค้นพบรอยเท้าสัตว์มีกระดูกสันหลังมากมายและหลากหลายในเมืองฮามี่เป็นครั้งแรก ซึ่งรวมถึงรอยเท้าของไดโนเสาร์กลุ่มเทโรพอดและกลุ่มซอโรพอด นกและไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรซอร์
นายหวัง เสี่ยวหลิน นักวิจัยผู้นำการศึกษานี้ กล่าวว่าฟอสซิลรอยเท้าสามารถมอบข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ทางนิเวศวิทยาที่ฟอสซิลโครงกระดูกไม่สามารถให้ได้ ทั้งยังมอบเบาะแสคุณลักษณะอื่นๆ ของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ทิ้งรอยเท้าไว้ เช่น ความเร็วของการเคลื่อนที่ พฤติกรรมการล่า และสภาพแวดล้อม นอกเหนือจากชนิด ความสูงสะโพก ความยาวลำตัว และน้ำหนักตัว
นายหวังเสริมว่าการค้นพบเหล่านี้เป็นหลักฐานทางตรงแสดงการมีอยู่ของไดโนเสาร์กลุ่มเทโรพอดภายในอาณาจักรสัตว์กลุ่มเทอร์โรซอร์ของเมืองฮามี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีฟอสซิลสัตว์กลุ่มเทอร์โรซอร์มากที่สุดในโลก
พร้อมทิ้งท้ายว่ามีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ใกล้กับแหล่งรอยเท้าเพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองฟอสซิลสำคัญเหล่านี้และเป็นประตูสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลานบินได้อันลึกลับที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่บนโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: