เผด็จการพม่าศึกหนัก ฝ่ายต่อต้านจ่อยึดชายแดนด้านอินเดียอีก

เผด็จการพม่าศึกหนัก – วันที่ 14 พ.ย. รอยเตอร์รายงานความคืบหน้าปฏิบัติการโจมตีรุกคืบของกองกำลังชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา (พม่า) ว่าเปิดฉากโจมตีอีกครั้งที่รัฐชิน ทางภาคตะวันตกของประเทศ คาดว่าเพื่อเข้าควบคุมชายแดนพม่าที่ติดกับอินเดีย

การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังความสำเร็จของกองกำลังชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่สามารถเข้ายึดครองค่ายทหาร 2 แห่ง บนแนวหุบเขาในรัฐชินได้ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ก่อนหน้านี้ เส้นทางขนส่งสินค้าหลัก 2 สาย ไปยังจีนถูกฝ่ายต่อต้านเข้ายึดครองได้

นายสุ่ย ข่าร์ รองประธานกองทัพแนวร่วมแห่งชาติชิน หรือซีเอ็นเอฟ กล่าวว่า การต่อสู้ข้างต้นดำเนินไปอย่างดุเดือดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงตกดิน เพื่อเข้าตีและยึดครองค่ายทหารพม่าที่ตั้งอยู่ติดกับชายแดนรัฐมิโซรัมของประเทศอินเดีย

ด้านโฆษกเผด็จการพม่าและกระทรวงการต่างประเทศอินเดียยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังมีรายงานว่า ทหารพม่าหลายนายต้องหนีตายข้ามเข้าไปยังเขตแดนของอินเดียหลังค่ายแตกและถูกฝ่ายต่อต้านเข้ายึดครองได้สำเร็จ

แนวร่วมระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เรียกยุทธการทางทหารแบบสายฟ้าแล่บที่ใช้ว่า “ยุทธการ 1027” ตั้งตามวันเวลาที่เริ่มปฏิบัติการโจมตี (27 ต.ค. ที่ผ่านมา) ทำให้กองทัพพม่าตกเป็นฝ่ายตั้งรับและถอยร่นอย่างต่อเนื่อง

ยุทธการ 1027 ส่งผลให้เผด็จการพม่าสูญเสียการควบคุมด่านชายแดนซึ่งเป็นหนึ่งในประตูสินค้าสำคัญในรัฐฉานติดกับพรมแดนจีน ซึ่งเป็นแนวท่อก๊าซจากพม่าเข้าไปยังจีน กระทบต่อรายได้ของเผด็จการพม่ากว่า 1 ใน 3 ทั้งยังมีค่ายทหารกว่า 100 แห่ง ถูกตีแตกยับเยิน

ล่าสุด แนวร่วมระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านฯขยายพื้นที่การโจมตี 2 แนวพร้อมกันในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ และรัฐชินข้างต้น คาดว่าเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ “หมากล้อมเมือง” ส่งผลให้พลเรือนพม่าต้องหนีตายข้ามไปยังฝั่งอินเดียต่อเนื่อง

สำหรับค่ายทหาร 2 แห่ง ที่กองทัพพม่าสูญเสียไปในรัฐชิน ได้แก่ ค่ายริขวดาร์ ที่ดูแลจุดผ่านแดนทางบกริขวดาร์ และค่ายขาวมะวี โดยฝ่ายต่อต้านใช้กำลังหน่วยรบประมาณ 80 นาย เข้าตีตั้งแต่ช่วงรุ่งสาง เมื่อเวลา 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และต่อสู้กับทหารพม่านานหลายชั่วโมง

ปฏิบัติการดังกล่าวส่งผลให้มีทหารพม่าหนีตายข้ามไปยังฝั่งอินเดีย 43 นาย โดยทหารพม่าทั้งหมดยอมมอบตัวและอยู่ภายใต้การดูแลของตำรวจอินเดีย

ด้านองค์การสิทิมนุษชนรัฐชิน ระบุว่า ทหารบางนายในกลุ่มดังกล่าวน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่ออาชญากรรมต่อพลเรือนด้วย ขณะที่ซีเอ็นเอฟ ระบุว่า จะขยายพื้นที่เข้ายึดครองแนวชายแดนทั้งหมดที่ติดกับอินเดีย โดยกองทัพพม่าเหลือค่ายทหารอีก 2 แห่งในรัฐชิน

นายสุ่ย ระบุว่า ยุทธวิธีของซีเอ็นเอฟจะเป็นการตีรอบนอกก่อนแล้วจากนั้นจึงปิดล้อมเพื่อบุกเข้าเมืองเอกของรัฐชิน โดยฝ่ายต่อต้านได้กำลังเสริมจากบรรดาพลเรือนที่เดือดดาลกับการยึดอำนาจและปราบปรามประชาชนของกองทัพพม่า ตัดสินใจเข้าป่าจับอาวุธร่วมต่อสู้หลายพันคน

นอกจากนี้ ซีเอ็นเอฟ ยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐมิโซรัมของอินเดีย เนื่องจากมีชาติพันธุ์ที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ส่วนปกครองท้องถิ่นในรัฐมิโซรัมมักเต็มใจให้ที่พักพิงแก่ผู้อพยพหนีภัยสงครามจากรัฐชิน

ส่วนสถานการณ์อีกแนวรบหนึ่งในรัฐยะไข่ มีประชาชนโพสต์ภาพรถถังของกองทัพพม่าออกมาประจำจุดป้องกันพื้นที่ในเมืองซิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ โดยเผด็จการพม่าประกาศเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกจากบ้านหลัง 21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

กองทัพแห่งอาระกัน หรือเอเอ ระบุว่า การต่อสู้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของรัฐยะไข่ โดยฝ่ายเอเอสามารถเข้าตีและยึดครองค่ายทหารพม่าได้ 2 แห่ง ได้แก่ ค่ายระตีด่องและมินเบีย

รักษาการประธานาธิบดีมินต์ ส่วย ที่ได้รับแต่งตั้งจากเผด็จการทหารพม่าหลังการยึดอำนาจ กล่าวยอมรับว่า พม่ากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่ประเทศชาติอาจแตกเป็นเสี่ยงๆ เนื่องจากการตอบโต้ที่ขาดประสิทธิภาพของกองทัพพม่า

ทั้งนี้ ยุทธการ 1027 นับเป็นการเปิดฉากโจมตีโต้กลับของแนวร่วมระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านฯ ครั้งท้าทายและรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่กองทัพพม่าก่อเหตุยึดอำนาจหลังพรรคฝ่ายทหารพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้พรรคของนางออง ซาน ซู จี อย่างยับเยิน เมื่อปี 2564

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน