“ทำงานมา 6 เดือนมีหญิงไทยลากกระเป๋ามาหน้าบ้านกงสุล หนีจากแหล่งหลอกลวงค้าประเวณีแทบทุกสัปดาห์ บางครั้งมาเป็นกลุ่ม 2-3 คน” นางสาวนิภา นิรันดร์นุต กงสุลในเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี ภูมิภาคตะวันออกกลาง กงสุลหญิงคนแรกที่กระทรวงการต่างประเทศส่งไปประจำในกลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับหรือจีซีซี (ซาอุดีอาระเบีย คูเวต กาตาร์ โอมาน บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) กล่าวและถือภารกิจที่ต้องช่วยหญิงไทยเป็นวาระงานลำดับแรกๆ

“หญิงไทยไปทำงานนวด แต่เจอสิ่งแวดล้อมเลวร้ายจริงๆ โดนบีบบังคับให้รับลูกค้าวันละหลายรายจนบาดเจ็บสาหัส เริ่มจากต้นทางคือความต้องการหารายได้โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ให้ครอบครัว”

“การเดินทางของอาชีพนวดขึ้นกับซีซั่นการท่องเที่ยว จากพัทยา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มายังตะวันออกกลางอย่างในบาห์เรน ยูเออี และยังมีกลุ่มที่เข้าใจผิด คิดว่ารายได้ดี ทำอาชีพนวด โดยไม่ถูกละเมิด หลงเชื่อโฆษณาจากติ๊กต็อก”

“อาชีพนวดในยูเออีมีการแข่นขันสูง มีคนทำอาชีพนวดเยอะ จึงทำให้หันจากตลาดที่มีรายได้ดีมายังตลาดที่มีรายได้น้อยลงมา เป็นกลุ่มแรงงานจากภูมิเอเชียใต้ที่ทำงานในยูเออี กลายเป็นธุรกิจต่อเนื่อง ทำงานส่งให้แม่เล้าหรือแม่แทร็ค”

วงจรทุกข์ใจของหญิงไทย

นางสาวนิภา นิรันดร์นุต กงสุลในเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี

เมื่อเดือนพ.ค.-มิ.ย. ที่ผ่านมา หญิงไทยถูกกรีดข้อมือ ป่วยวัณโรครักษาไม่หาย ขณะนี้ 3 คนอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช และไม่สามารถรักษาได้แล้วจึงต้องส่งกลับมาไทย อีก 8 คน กำลังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาลูกไม่มีพ่อ รัฐบาลไม่ออกสูจิบัตรหรือใบเกิดให้ ส่งผลให้ต้องมีคำสั่งศาลขออนุญาตให้ใบเกิด

การชักชวนมาทำงานนวดสปา ร้านอาหาร ฯลฯ แล้วนำไปสู่การค้าประเวณี (นวดแอบ,นวดตรง) โดยมีรูปแบบการชักชวน ผ่านระบบออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก หรือ การชักชวนจากเพื่อน คนรู้จัก เอเจนซี่ที่ผิดกฎหมาย โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่าเยี่ยมเยือน

เมื่อมาถึงมีการใช้วีซ่าท่องเที่ยวลักลอบทำงาน หรือบางรายมีการมาเปลี่ยนแปลงเป็นวีซ่าทำงานภายหลัง โดยเฉพาะกลุ่มนวดแอบ เอเจนซี่เป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายให้ก่อน และตกลงกันว่าเมื่อมาถึงจะทำงานใช้หนี้ หรือค่าแทร็ค มาจาก contract แปลว่า สัญญา ซึ่งสองฝ่ายระหว่างนายหน้าหรือเอเจนซี่ที่ผิดกฎหมายและผู้ที่จะเดินทางต่างทราบเงื่อนไขนี้ระหว่างกันว่า เมื่อเดินทางมาถึงจะหักค่าใช้จ่ายหรือค่าแทร็คจากการทำงาน มีการแจ้งกันชัดเจนว่าจะมาทำอะไร

บางรายแจ้งว่าไม่ทำก็ได้ แต่เมื่อถึงไม่มีทางเลือก เหตุการณ์บีบบังคับให้ต้องทำ มิฉะนั้นจะไม่มีเงินหักค่าหนี้ – บางรายนวดไม่เป็นเอเจนซี่จะแจ้งว่าเมื่อถึงปลายทางจะสอนให้

เมื่อมาถึงสนามบินมีคนมารอรับ ยึดหนังสือเดินทาง บางรายให้เซ็นสัญญาเป็นหนี้ และถูกส่งต่อไปยังแม่แทร็ค ซึ่งจะเป็นร้านนวดตรง (ร้านนวดผิดกฎหมายไม่มีการจดทะเบียนที่ถูกต้อง) หรือนวดแอบ(ร้านจดทะเบียนถูกกฎหมายแต่มีการลักลอบค้าประเวณี) หากไม่สามารถทำได้ หรือไม่มีรายได้จากการทำงานจะถูกส่งขายไปเป็นทอดๆ ทำให้ผู้ที่เดินทางมาเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น

บางรายที่ถูกส่งไปร้านนวดแอบจะถูกเปลี่ยนวีซ่าจากวีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่าเยี่ยมเยือนเป็นวีซ่าทำงาน หากจะยกเลิกวีซ่าจะถูกเรียกค่าใช้จ่ายเป็นค่าทำวีซ่าและค่ายกเลิกวีซ่า

บางรายสามารถหาทางออกมาได้จะเดินทางกลับประเทศไทยก็ไม่สามารถเดินทางออกประเทศได้ เนื่องจากกระบวนการขั้นตอนการขอถิ่นพำนักจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน ดังนั้นหากจะเดินทางกลับต้องมีการยกเลิกวีซ่าก่อน หากไม่มีเงินจ่ายจะมีข้อพิพาทและจะต้องดำเนินการตามกระบวนการในชั้นกระทรวงแรงงาน ชั้นศาล ใช้ระยะเวลาเป็นปี

นางสาวนิภากล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในดูไบที่เราประสบคือ หญิงไทยถูกล่อลวงบังคับให้ค้าประเวณีและหลายรายถูกบังคับกักขัง ประสบชะตากรรมที่เลวร้าย สถานกงสุลใหญ่ต้องไปช่วยและเรียกตำรวจไปช่วยและหลายครั้งๆ คือเป็นเหยื่อที่น่าสงสารจริงๆ

“น้องๆที่ถูกหลอกลวงมาเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกหลอกโดยคนใกล้ตัว ถูกหลอกโดยโซเชียลมีเดีย โดยการโฆษณาในติ๊กต็อกที่ว่ามีรายได้ดีในการทำงานนวด ไม่ต้องทำอะไรเลย ลากกระเป๋ามาอย่างเดียว เพราะค่าตั๋วเครื่องบิน ก็มีคนออกให้ ค่าวีซ่าก็ไม่ต้อง เดี๋ยวมาเปลี่ยนวีซ่าที่นี่ อยู่ฟรี” นางสาวนิภากล่าว

แต่จริงๆแล้วเมื่อมาถึง หญิงเหล่านี้ถูกบังคับ ไม่มีเงินเดือน มีค่าสัญญา หรือค่าแทร็ค อย่างน้อยๆ 50,000 บาท แล้วในที่สุดอาจถูกปรับกลายเป็น 6-80,000 บาท ผู้หญิงไม่มีรายได้ แถมมีหนี้ ต้องจ่ายเจ้าของร้านนวดเทา บังคับค้ากาม เป็นต้น เพราะฉะนั้น คือ ไม่ควรหลงเชื่อและไม่ควรออกมาเลยตั้งแต่ต้น

หากประสบปัญหาถูกกักขัง ทางสถานกงสุลใหญ่ แจ้งตำรวจ ซึ่งตำรวจดูไบมีประสิทธิภาพที่เราสามารถขอความช่วยเหลือได้หลายรูปแบบ อาทิ เช่น โทร.กด 999 แม้ไม่มีซิมการ์ดก็สามารถโทรได้ ตำรวจจะรู้ตำแหน่งที่อยู่ของเรา แอพพลิเคชั่นตำรวจดูไบ (Dubai Police) ที่มีระบบการขอความช่วยเหลือ และเพจเฟซบุ๊ก Dubai Police ซึ่ง 3 ช่องทางเหล่านี้สามารถช่วยน้องๆหลายคนออกมาจากการกักขังได้แล้ว

การออกมาจากที่กักขังไม่ได้หมายความว่า เราจะออกมาจากยูเออีและกลับเมืองไทยได้ง่ายๆ หลายครั้งเมื่อวีซ่าถูกปรับเป็นวีซ่าทำงานแล้ว ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อออกไป และต้องผ่านการพิจารณาของสำนักตรวจคนเข้าเมืองหรือตม.และอาจมีปัญหาวีซ่าเกินกำหนด

หรือถ้าหากว่าเป็นการค้าประเวณี เราอาจจะถูกจำคุกในดูไบและในหลายๆครั้ง อาจต้องติดคุกนานถึง 2 เดือนกว่าจะได้เดินทางกลับ นอกจากเสียทั้งเงิน เสียทั้งตัว เสียสุขภาพจิต แล้ว เราจะมีบาดแผลในใจไปอีกนาน ขอให้หญิงไทยอย่าหลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง

ความร่วมมือในการปราบปรามการค้ามนุษย์

สิ่งที่ต้องทำต่อไป กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือปคม. จะเตือนภัยและทำงานเชิงรุกยิ่งขึ้นแต่ต้องทำกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

ส่วนงานปลายทางที่สถานกงสุลใหญ่กำลังทำ นอกจากเตือนภัยและช่วยเหลือหญิงไทยออกมา เราจะมีมาตรการที่ทำให้ภาพลักษณ์ของนวดไทยในดูไบดีขึ้น โดยการสนับสนุนธุรกิจ ‘นวดขาว’ กล่าวคือสร้างร้านนวดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้มาตรฐาน ได้การรับรอง อาชีพหมอนวดได้รับการการจดทะเบียนเข้ามา แม้กระทั่งเปลี่ยนจาก Thai massage มาเป็น Thai Therapy นางสาวนิภาระบุว่า ต้องทำร้านนวดขาวให้ขยายขึ้นด้วย

สิ่งที่อยากทำในปีงบประมาณนี้ รวมทั้งใช้เครือข่ายคนไทยกันเอง ซึ่งมีประสิทธิภาพมาก มีการดูแลกันอย่างใกล้ชิด เข้าไปช่วยถึงพื้นที่ หายา ส่งหมอไปโรงพยาบาลต่างๆ นำเครือข่ายเหล่านี้มาจดทะเบียนที่ถูกต้อง เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์และเราจะสามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้อย่างครอบวงจร ตั้งแต่สกัดกั้น คัดกรองเหยื่อและดูแลที่ต้นทางและปลายทาง

ทำงานร่วมกับผู้แทนมูลนิธิพิทักษ์สตรีและเครือข่ายคนไทยในดูไบ (ภาพจาก เฟซบุ๊ก สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ)

ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับยูเออีในการแก้ไขปัญหาและผลักดันการแก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างครบวงจร อาทิ เช่น การผลักดันการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพหลัก และกลไกคณะทำงานที่เรียกว่า consular consultation ซึ่งจะแก้ไขทุกปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนไทยและดูแลคนไทย ช่วยเหลือคุ้มครอง โดยโดยเฉพาะเหยื่อค้ามนุษย์

เจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่พูดคุยหาแนวทางแก้ไขร่วมกับกลุ่ม Serve The city ภาคประชาสังคมในดูไบ

จำนวนคนไทยในยูเออีทำงานอย่างถูกต้องกฎหมาย คาดว่ามีประมาณ 5,000-5,500 คน โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพแรงงาน พนักงานบริษัท ลูกเรือ พนักงานร้านนวดสปา เชฟ พนักงาน ร้านอาหารไทยและนักศึกษา

และมีคนไทยที่เดินทางเข้ามาทำงานด้วยวีซ่าท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด ฝ่ายแรงงานของสถานทูตไทยในกรุงอาบูดาบีคาดว่ามีจำนวนราว 7,000 คน และข้อมูลล่าสุดจากฝ่ายยูเออีระบุว่ามีจำนวนราว 10,000 คน (ณ 12 พ.ค.66)

ในปี 2566 (ตั้งแต่ม.ค.-ก.ย.66) สถานกงสุลใหญ่ให้ความช่วยเหลือรวม 4,459 คนตลอดทั้งปี โดยด้านหลักที่ให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ คนไทยตกทุกข์ได้ยาก 608 คน แรงงานไทย 17 คน คนไทยถูกจับกุม 376 คน เฉพาะที่ได้รับแจ้งจากตร.ดูไบ

ปี 2561-2565 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในยูเออีและเข้าข่ายตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือบังคับใช้แรงงานที่ผ่านการคัดกรองแล้วจำนวน 197 คน นับเป็นประเทศในตะวันออกกลางที่ชาวไทยตกเป็นเหยื่อ ค้ามนุษย์มากเป็นอันดับ 2 โดยส่วนใหญ่ถูกหลอกลวงผ่านนายหน้าว่าจะให้ไปทำงานในร้านนวดสปาหรือร้านอาหาร แต่เมื่อไปถึงปลายทางกลับถูกยึดหนังสือเดินทางและบังคับให้ค้าประเวณี มีการทำร้าย ข่มขู่ และการใช้ภาระหนี้สินมาบีบบังคับ

ในรอบปีที่ผ่านมา คนไทยที่ขอความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำความผิดหรือเข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมาย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

บุกจับสาว ลวงค้ากามดูไบ บังคับใช้หนี้ เหยื่อสุดช้ำ มีประจำเดือนยังต้องรับแขก

จับยกแก๊ง! ลวงหนุ่มไทยขายฝันนวดสปา เงินเดือน 8 หมื่น ที่แท้ส่งขายซ่องนรกดูไบ

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน