สกู๊ปพิเศษต่างประเทศ 2566 เป็นอีกปีที่ทั่วโลกเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และเกิดขึ้นต่อเนื่องแทบ ทุกเดือนตลอดทั้งปีที่ผ่านมา
หนำซ้ำยังเกิดขึ้นเกือบทุกประเภท ตั้งแต่แผ่นดินไหว ไฟป่า ภัยแล้ง ไปจนถึงน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม และพายุ หากจะเรียกว่าเป็นปีแห่งภัยพิบัติก็คงไม่เกินจริง และยังเป็นปีแห่งคำเตือนจากสถิติหายนะที่แซงหน้าปีก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญ
เริ่มต้นเดือนม.ค. อัฟกานิสถานประสบภัย “โคลด์สแนป” หรือปรากฏการณ์อากาศหนาวฉับพลัน จู่ๆ อุณหภูมิลดฮวบลงไปถึง -33 องศาเซลเซียสในพื้นที่เขาสูงทางตอนเหนือ รวมทั้งจังหวัดเฮราต คร่าชีวิต ชาวบ้าน 166 ราย อีก 140 คนต้องเข้าร.พ.รักษาภาวะพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ จากการสูดดมควันไฟที่จุดเพื่อคลายหนาว และปศุสัตว์ราว 80,000 ตัวล้มตาย
ส่วนเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” ปีนี้เฉพาะที่ความรุนแรงตั้งแต่ 6.0 แม็กนิจูดขึ้นไปมีอย่างน้อย 140 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมกันเกือบ 64,000 ราย
เหตุแผ่นดินไหวร้ายแรงที่มีตัวเลขความสูญเสียมากที่สุด 3 อันดับของปี ได้แก่ แผ่นดินไหว 7.8 แม็กนิจูด กระทบเมืองกาซีอันเท็ป ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี และพื้นที่ภาคตะวันตกของซีเรีย มีผู้เสียชีวิตรวมสองประเทศ 59,259 ราย กว่า 122,000 รายได้รับบาดเจ็บ และยังสูญหายเกือบ 300 ราย
อันดับ 2 เป็นแผ่นดินไหวในโมร็อกโกเมื่อเดือนก.ย. มีความรุนแรง 6.8 แม็กนิจูด จุดศูนย์กลางอยู่ในภูมิภาคมาร์ราเกช-ซาฟี มีผู้เสียชีวิต 2,960 ราย บาดเจ็บกว่า 5,600 ราย
อันดับ 3 แผ่นดินไหวขนาด 6.3 แม็กนิจูดในจังหวัดเฮราต อัฟกานิสถาน เมื่อเดือนต.ค. มีผู้เสียชีวิต 1,482 ราย ราว 2,400 รายบาดเจ็บ และช่วงส่งท้ายปียังมีแผ่นดินไหวแรงในมณฑลกานซู-มณฑลชิงไห่ ประเทศจีน คร่าชีวิตผู้คนเกือบ 140 ราย บาดเจ็บหลายร้อยราย
ขณะเดียวกัน “น้ำท่วม” ยังเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายต่อเนื่อง หลายประเทศในเอเชียใต้ ครอบคลุมอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และศรีลังกา ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงฤดูมรสุมและพายุไซโคลนพัดถล่ม มีผู้เสียชีวิตรวมกัน 2,340 ราย ในจำนวนนี้เป็นเหยื่อในอินเดียมากถึง 2,038 ราย และยังสูญหายกว่า 100 ราย
จีนเองก็ระทึกกับพายุฝน ตกกระหน่ำและน้ำท่วมหนักทางตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อเดือนก.ค. มีพื้นที่ได้รับผลกระทบคือ กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย มีผู้เสียชีวิต 81 ราย และสูญหาย 34 ราย
ช่วงใกล้ๆ กันเกาหลีใต้เผชิญกับฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ของประเทศในรอบ 115 ปี ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม ในจังหวัดชุงช็องเหนือและคย็องซังเหนือ มีผู้เสียชีวิต 47 ราย
ในจำนวนนี้มีเหยื่อ 14 ราย จากเหตุน้ำท่วมไหลทะลักเข้าอุโมงค์กุงพยอง ส่วนน้ำท่วมต่อเนื่องในฟิลิปปินส์ระหว่างเดือนธ.ค.2565 ถึงเกือนก.พ.2566 มีผู้เสียชีวิตร่วม 100 ราย
ทวีปแอฟริกาปีนี้มีเหยื่อจากน้ำท่วมมากกว่า 2,200 รายใน 15 ประเทศ ยังสูญหาย 2,542 ราย และบ้านเรือนพังยับเกือบ 146,000 หลัง ในอเมริกาใต้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ บราซิล มีปริมาณน้ำฝนทุบสถิติที่ 682 มิลลิเมตรในรัฐเซาเปาโล และฝนตกหนักในรัฐฮิว กรังจีดูซูว รวมแล้วมีผู้เสียชีวิต 112 ราย
ส่วนพายุหลักๆ ปีนี้มี “ไซโคลนโมคา” ในมหาสมุทรอินเดีย คร่าชีวิตชาวบ้านกว่า 400 รายในเมียนมาและบังกลาเทศ วันที่ 20 ก.ค. “ไต้ฝุ่นทกซูรี” ถล่มจีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เสียชีวิตรวม 137 ราย
ขณะที่ “ไซโคลนแดเนียล” พายุที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ในพื้นที่แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซัดกระหน่ำกรีซ บัลแกเรีย ตุรกี และลิเบีย เมื่อเดือนก.ย. อิทธิพลของพายุทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง คร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 4,361 ราย ยังสูญหายนับหมื่นราย
ส่งท้ายปีกับ “เฮอริเคนโอทิส” ความรุนแรงระดับ 5 ที่ถล่มยับตอนใต้ของเม็กซิโก เมื่อเดือนต.ค. มีผู้เสียชีวิต 350 ราย
แคนาดาที่ไม่ค่อยมีภัยพิบัติรุนแรงก็ถึงกับสาหัสเมื่อ “ไฟป่า” ลุกลามส่งผลกระทบทั่วทั้งประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค. และข้อมูลถึงเดือนต.ค. ระบุว่ามีไฟป่าเกิดขึ้นรวม 6,551 แห่ง
เผาวอดพื้นที่กว่า 185,000 ตารางกิโลเมตร หรือราว 115 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าร้อยละ 5 จนถึงปัจจุบันยังมีไฟป่าหลายร้อยแห่งที่ไม่สามารถควบคุมได้
อีกที่ที่ช็อกสุดๆ คือ เหตุไฟป่าบนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย สหรัฐ เมื่อเดือนส.ค. ไฟเผาวอดพื้นที่กว่า 43,000 ไร่ เกือบทั้งเมืองกลายเป็นเศษซาก และเสียชีวิตทะลุ 100 ราย
นอกจากภัยธรรมชาติแล้วปี 2566 ยังมีอุบัติเหตุใหญ่หลายครั้ง รวมถึงเหตุ เที่ยวบิน 691 สายการบิน เยติแอร์ไลน์ ดิ่งตกไม่ไกลจากสนามบินนครโปขรา ประเทศเนปาล คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือยกลำ 72 ศพ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.
ต่อมาในวันที่ 28 ก.พ. รถไฟโดยสารชนในภูมิภาคเทสซาลี ทางตอนกลางของกรีซ มีผู้เสียชีวิต 57 ราย และนำไปสู่การประท้วงเพื่อปฏิรูประบบการจัดการรถไฟของประเทศ วันที่ 2 มิ.ย. มีเหตุรถไฟ 2 ขบวนชนกันในรัฐโอฑิศา ของอินเดีย เสียชีวิตเกือบ 300 ราย ราว 1,200 คนบาดเจ็บ
วันที่ 18 มิ.ย. ทั่วโลกต้องช็อกกับเหตุการณ์ “เรือไททัน” เรือดำน้ำนำเที่ยวโอเชียนเกตที่พาสำรวจซากเรือไททานิกที่จมอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
เกิดระเบิดแบบบีบอัดรุนแรงเฉียบพลัน คร่าชีวิตผู้โดยสารทั้งหมด 5 ราย และวันที่ 25 ก.ย. เกิดเหตุระเบิดที่สถานีเชื้อเพลิง ในเมืองสเตพานาแกร์ต ภูมิภาคนากอร์โน -คาราบัค พื้นที่พิพาทระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนีย มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 ราย
ส่งท้ายด้วยข้อเท็จจริงที่ตอกย้ำว่าวิกฤตอากาศเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น หลังอุณหภูมิมหาสมุทรโลกสูงเป็นประวัติ การณ์มาอยู่ที่ 20.96 องศาเซลเซียส ทุบสถิติเดิมในปี 2559 และอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2566 ยังเกิน 2 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตุรกีเฮอีก “สาวรอดชีวิต” ติดใต้ซาก 258 ชั่วโมง UN วอนระดมเงิน 3.4 หมื่นล้าน (คลิป)
- ซาฮาร่า เซียร่า ออกโรงลุย ค้นหาผู้ประสบภัย ธรณีพิโรธ ตุรกี
- ลำเลียงซาก “ไททัน” ขึ้นฝั่ง คาดเจอร่างผู้เสียชีวิตในชิ้นส่วนเรือ-เร่งตรวจสอบ (คลิป)
- “เกาะเมาวี” อ่วมไฟป่า ลมเฮอริเคนโหมเพลิงลุกลาม ดับพุ่ง 40 แห่โดดน้ำหนีตาย (คลิป)