กฤษณะ โชติสุทธิ์ : วิเคราะห์ประวัติศาสตร์พม่าสู่แนวโน้มสถานการณ์สู้รบของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 พี่น้อง (ตอน 1)

นับตั้งแต่ กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่มร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางเหนือ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ 3 พี่น้อง ได้แก่ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมาของโกก้าง (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอางหรือปะหล่อง (TNLA) และกองทัพอาระกัน ( AA) เปิดฉากโจมตีกองทัพพม่าภายใต้ปฏิบัติการ 1027 ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ชวนให้ขบคิดและกังวลถึงแนวโน้มสถานการณ์สู้รบและเป้าหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 พี่น้องและผลกระทบต่อไทย

สถานการณ์สู้รบยังดำเนินต่อไป เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในรัฐฉานทางตอนเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตปกครองพิเศษโกก้าง และเขตปกครองว้า ในเมืองป๊อก เล้าก์ก่าย ติดกับชายแดนจีน จนมาถึงพัฒนาการที่น่าจับตา กลุ่มชาติพันธุ์ 3 พี่น้อง ยึดจุดตรวจทางทหารต่างๆได้ รวมถึงยึดเมืองโมน ภูมิภาคพะโค ติดกับนครย่างกุ้ง ศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ

นายกฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิเคราะห์สถานการณ์สู้รบในขณะนี้และแนวโน้ม

สถานะ บทบาท และอำนาจของตัวแสดงทางการเมืองในพม่า

ก่อนการรัฐประหารในปี 2564 บนพื้นที่ชายแดนพม่าได้เต็มไปด้วยตัวแสดงทางการเมืองติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังที่อ้างอิงทิศทางในการต่อสู้ไปยังชาติพันธุ์ของตน หรือ อุดมการณ์ทางการเมืองบางประการ หากย้อนกลับไปในอดีต พบว่า การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มผู้ต่อต้านปรากฏนับตั้งแต่หลังจากพม่าได้รับเอกราชในปี 2491 จวบจนปัจจุบัน

โดยการปรับเปลี่ยนทิศทางการต่อสู้ของผู้ต่อต้าน และการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกลุ่ม วางอยู่บนเงื่อนไขของการปรับเปลี่ยนทิศทางของรัฐบาล และอิทธิพลจากการเมืองในระดับโลก

สภาวการณ์ดังกล่าวได้ทำให้พื้นที่ชายแดนของพม่าเต็มไปด้วยตัวแสดงทางการเมือง และถือเป็นพื้นที่ที่เสมือนสมรภูมิแห่งการรบที่มีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการต่อรองระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ลักษณะพิเศษของพื้นที่ชายแดนที่มีความสามารถในการเชื่อมความสัมพันธ์กับภายนอก ได้ทำให้พื้นที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ และกองทัพพม่าได้ใช้การมอบผลประโยชน์บางประการให้แก่บางกลุ่มก้อน เพื่อสร้างความแตกแยกภายใน และมีการแยกตัวออกมาร่วมมือกับกองทัพพม่า จนในแต่ละพื้นที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของกองกำลังติดอาวุธ

อาทิเช่น ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงประกอบด้วย กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNLA จำนวน 7 กองพัน KNU-PC และ DKBA ในพื้นที่รัฐกะยา ประกอบด้วย กองกำลัง KNPP KNPLF KNSO KNLP เป็นต้น ซึ่งกองกำลังต่าง ๆ ล้วนมีทิศทางการสร้างความร่วมมือในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกันออกไป

ขณะเดียวกัน หลังพม่าประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2008 (2551) กองทัพพม่าได้อออกแบบโครงสร้างการจัดการชายแดน ด้วยการสถาปนา “กองกำลังพิทักษ์ชายแดน” (BGF – Border Guard Force) โดยอัตรากำลังพลจะโอนมาจากกองกำลังติดอาวุธ และกองกำลัง BGF ในแต่ละพื้นที่ เกิดจากการโอนย้ายกองกำลังบางส่วน หรือแยกกำลังพลจากกองกำลังเดิมเข้ามาตั้งกองกำลังสังกัดกระทรวงกลาโหมของพม่า

ท่ามกลางความหลากหลายของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ และสภาพพื้นที่แห่งการสู้รบ ส่งผลให้พื้นที่ชายแดนส่วนใหญ่ ปราศจากที่ตั้งของข้าราชการพลเรือน มีเพียงฐานปฏิบัติการของทหารพม่าที่กระจายตัวในพื้นที่ที่กองกำลังติดอาวุธครอบครอง

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มกองกำลังติดอาวุธกับกองทัพพม่าได้ถูกถักร้อยด้วยผลประโยชน์บนพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บส่วยจากการค้าข้ามแดนในลักษณะกึ่งทางการ (สินค้าที่ผิดกฎหมายพม่า ถูกกฎหมายไทย) การเก็บภาษีในรูปแบบต่าง ๆ และการเป็นเจ้าของทรัพยากร อาทิ แหล่งป่าไม้ แร่นานาชนิด เป็นต้น

ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลัง BGF ได้ถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมผิดกฎหมายของบรรดากลุ่มทุนจีนเทาที่มีหมายจับจากรัฐบาลปักกิ่ง

ด้านกองกำลัง BGF ได้รับผลประโยชน์ต่างตอบแทนจากกลุ่มจีนเทา และมีการแบ่งปันผลประโยชน์บางส่วนให้แก่กองทัพพม่า ขณะเดียวกัน กองกำลัง BGF บางส่วนยังมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับกองกำลังติดอาวุธ ส่งผลให้ความหลากหลายของกองกำลังติดอาวุธทั้งที่สังกัดราชการ และไม่สังกัดราชการ ต่างมีความสัมพันธ์บางประการที่ทำให้พื้นที่ชายแดนเต็มไปด้วยผลประโยชน์ท่ามกลางความคุกรุ่นของไฟสงคราม และเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญให้แก่กองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ

หลังจากเกิดการรัฐประหารภายในพม่า กองทัพพม่าได้จัดตั้ง “SAC” สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ ขณะพรรคสันนิบาติแห่งชาติประชาธิปไตยหรือ NLD ที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาลเงานามว่า “NUG” และมีกองกำลังพิทักษ์ประชาชนหรือ PDF เป็นทหารสังกัดกระทรวงกลาโหมของรัฐบาล NUG จนกลายเป็นกองกำลังติดอาวุธอีกกลุ่ม

อีกทั้งหลังการรัฐประหาร กองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ ได้เลือกต่อต้าน SAC ขณะเดียวกัน NUG ไม่มีพื้นที่ในการยึดครองอย่างชัดเจน การร่วมมือระยะแรกระหว่างกองกำลังติดอาวุธกับ NUG เป็นไปในลักษณะของการที่กองกำลังติดอาวุธในแต่ละพื้นที่ช่วยฝึกอาวุธให้แก่ PDF และร่วมรบ จนในแต่ละพื้นที่ตลอดแนวชายแดน เต็มไปด้วยความร่วมมือระหว่างกองกำลังติดอาวุธร่วมมือกับ PDF โดยมีศัตรูร่วมกันคือ กองทัพพม่า กับกองกำลัง BGF

รัฐบาลจีน VS จีนเทา กับ พื้นที่ชายแดนประเทศพม่า

พื้นที่ประเทศพม่าในอดีต ถือเป็นพื้นที่ที่ต่างประเทศให้ความสนใจ จนมีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ กับรัฐบาลพม่า ก่อนจะมีลงทุนภายในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลจีนมีการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองกับเศรษฐกิจกับรัฐบาลพม่าเรื่อยมา จนมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจเจ้าก์พยู แถบรัฐยะไข่ การสร้างท่อน้ำมัน และท่อแก๊สจากรัฐยะไข่ส่งตรงสู่มณฑลยูนนาน จนเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในมณฑลยูนนานอย่างก้าวกระโดด

อาจารย์ประจำหลักสูตรพม่าศึกษาระบุว่า ขณะเดียวกัน พื้นที่ชายแดนที่เต็มไปด้วยกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ ได้มีกองกำลัง BGF ที่ถือเป็นกองกำลังท้องถิ่น สังกัดกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลพม่า ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอำนาจรัฐในพื้นที่ชายแดน ความไม่ชัดเจนของขอบเขตอำนาจ และบทบาทหน้าที่ของกองกำลัง ได้ทำให้พื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลัง BGF กลายเป็นพื้นที่ที่กองกำลัง BGF มีอำนาจในการจัดการ

ขณะเดียวกัน กลุ่มจีนเทาที่มีหมายจับจากรัฐบาลจีน ได้มีธุรกิจพนันออนไลน์ แก๊งคอลเซนเตอร์ที่หลอกลวงชาวจีน ต่างชาติรวมถึงคนไทย และมีการล่อลวงทำงานผิดกฎหมาย ทั้งเป็นทาสกาม ตลอดจนการเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ได้มีฐานที่มั่นเดิมในกัมพูชา แต่หลังจากรัฐบาลกัมพูชาได้รับการกดดันจากรัฐบาลจีน จนมีการปราบปรามธุรกิจคาสิโนออนไลน์ ส่งผลให้กลุ่มจีนเทา ต้องอพยพออกจากกัมพูชา

และพื้นที่ภายใต้การดูแลของกองกำลัง BGF ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่รองรับกลุ่มทุนจีนเทา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจของกองกำลัง BGF ที่อยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหม รัฐบาลพม่า และกองกำลัง BGF ยังมีสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ จนรายได้จากการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มจีนเทาเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ได้กลายเป็นผลประโยชน์ร่วมที่สามารถกระจายให้ตัวแสดงทางการเมืองกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีส่วนแบ่งกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มจีนเทา

จากที่กล่าวมาข้างต้น พื้นที่ภายในประเทศพม่าจึงเต็มไปด้วยผลประโยชน์ของรัฐบาลจีนทั้งการลงทุน และลำเลียงพลังงานเพื่อการพัฒนาพื้นที่ทางด้านตะวันตกของจีน กับกลุ่มทุนจีนเทา เป้าหมายที่รัฐบาลจีนต้องการการปราบปรามอยู่ตลอดเวลา

แต่ความไม่ชัดเจนของสถานะ บทบาท หน้าที่ของกองกำลัง BGF ทำให้รัฐบาล NLD ที่รับไม้ต่อในการบริหารประเทศจากรัฐบาลทหาร ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าไม่น้อยหลังจากโดนกดดันจากรัฐบาลจีนให้ปราบปรามกลุ่มจีนเทาอยู่ตลอดเวลา

(มีต่อ ตอน 2 จบ)

สุจิตรา ธนะเศวตร

อ่าน แนวโน้มการปราบทุนจีนเทาจากเล้าก์ก่ายสู่แม่สอด? วิเคราะห์สถานการณ์สู้รบของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 พี่น้อง (ตอนที่ 2)

อ่าน รับ 41 คนไทย ในเล่าก์ก่ายกลับบ้าน ทบ.เร่งช่วยอีก 246 ชีวิตตกค้างในพื้นที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน