กฤษณะ โชติสุทธิ์ : วิเคราะห์แนวโน้มการปราบทุนจีนเทาจากเล้าก์ก่ายสู่แม่สอด? จากสถานการณ์สู้รบของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 พี่น้อง (ตอน 2 จบ)

นับตั้งแต่ กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่มร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางเหนือ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ 3 พี่น้อง ได้แก่ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมาของโกก้าง (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอางหรือปะหล่อง (TNLA) และกองทัพอาระกัน ( AA) เปิดฉากโจมตีกองทัพพม่าภายใต้ปฏิบัติการ 1027 ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ชวนให้ขบคิดและกังวลถึงแนวโน้มสถานการณ์สู้รบและเป้าหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 พี่น้องและผลกระทบต่อไทย

สถานการณ์สู้รบยังดำเนินต่อไป การสู้รบเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในรัฐฉานทางตอนเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตปกครองพิเศษโกก้าง และเขตปกครองของว้า ในเมืองป๊อก เล้าก์ก่าย ติดกับชายแดนจีน

จนมาถึงพัฒนาการที่น่าจับตา กลุ่มชาติพันธุ์ 3 พี่น้อง ยึดจุดตรวจทางทหารต่างๆได้ รวมถึงยึดเมืองโมน ภูมิภาคพะโค ติดกับนครย่างกุ้ง ศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ

นายกฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิเคราะห์สถานการณ์สู้รบในขณะนี้และแนวโน้ม

เล้าก์ก่าย: การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สู่ปฏิบัติการ 1027

การเข้าใจพื้นที่ชายแดนจีน – พม่า รวมถึงตัวแสดงทางการเมืองในพื้นที่บริเวณเขตปกครองพิเศษโกก้าง ต้องย้อนกลับไปมองตั้งแต่ยุคคอมมิวนิสต์ เพราะพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นฐานปฏิบัติการ และเป็นสะพานเชื่อมสำคัญระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์พม่าหรือ CPB กับ พรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือ CPC

กระทั่งหลังพรรคคอมมิวนิสต์พม่าล่มสลายลงในปี 1989 กองกำลังบางส่วนได้แยกตัวตั้งกองกำลัง MNDAA หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 พี่น้องและทำข้อตกลงสงบศึกกับรัฐบาลพม่า และรัฐบาลพม่าได้มอบอำนาจในการจัดการพื้นที่รวมถึงพื้นที่โกก้าง ให้แก่ กองกำลัง MNDAA จนภายในพื้นที่เกิดการพัฒนา และได้รับประโยชน์จากการเป็นพื้นที่ชายแดนพม่า – จีนอย่างมากมาย

อีกทั้งพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสภาบริหารแห่งรัฐหรือ SAC ยังเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.กองทัพภาคสามเหลี่ยม (Triangle Regional Command) ซึ่งมีอาณาเขตในบริเวณภาคตะวันออกของรัฐฉาน จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าผู้นำ SAC น่าจะมีความสัมพันธ์บางประการกับกองกำลัง MNDAA

กระทั่งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2008 กองทัพพม่าได้พยายามชักกจูงให้กองกำลัง MNDAA โอนย้ายกองกำลังเข้าสังกัดกองกำลัง BGF ช่วงปี 2009 แต่ผู้นำกองกำลัง MNDAA ปฏิเสธข้อเสนอของกองทัพพม่า จนกองทัพพม่าได้ชักจูงรองผู้นำแทน อีกทั้งทหารภายใต้สังกัดกองกำลัง MNDAA จำนวนหนึ่งได้โอนย้ายบรรจุลงกองกำลัง BGF ขณะผู้นำและทหารบางส่วนยังคงยังคงสังกัดกองกำลัง MNDAA

ความขัดแย้งของกองกำลังสองกลุ่มจบลงด้วยชัยชนะของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนหรือ BGF ภายใต้การสนับสนุนของกองทัพเมียนมา หลังจากนั้นพื้นที่เมืองเล้าก์ก่ายที่อยู่ภายใต้อำนาจการจัดการของกองกำลัง BGF ได้แปรสภาพเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนจีนเทาเข้ามาเช่าพื้นที่ในราคาสูง เพื่อสร้างคาสิโน และเป็นที่อยู่ของแกงค์คอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกลวงเงินจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน

ความพยายามของรัฐบาลจีนในการปราบปรามจีนเทาบนพื้นที่ชายแดนของพม่าดำเนินการมานับตั้งแต่รัฐบาล NLD แต่มักไม่ได้รับการตอบสนองจากกองทัพพม่า เนื่องจากที่ตั้งของกลุ่มทุนจีนเทาส่วนใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ของกองกำลัง BGF ที่สังกัดกองทัพเมียนมา จนคาดว่าทั้งสองกองกำลังต่างได้รับผลประโยชน์จากกลุ่มจีนเทา

อย่างไรก็ดี การเปิดปฏิบัติการ 1027 ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง กองกำลัง MNDAA กองกำลัง TNLA และกองกำลัง AA ได้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อรัฐบาลจีน และคาดว่าน่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน

ขณะเดียวกัน การเปิดปฏิบัติการครั้งดังกล่าว น่าจะอยู่ภายใต้การรับรู้ของ SAC และ SAC เลือกวางเฉย มากกว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของกองกำลัง BGF เนื่องจากหลังจากเกิดปฏิบัติการ 1027 ฝั่ง SAC ไม่ได้มีการโต้ตอบรัฐบาลจีน ทั้ง ๆ ที่ผลประโยชน์ของรัฐบาลจีนภายในพม่า ทั้งท่อแก๊ส ท่อน้ำมันที่ลำเลียงไปยังมณฑลยูนนาน ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแทบทุกอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาและเจริญเติบโตของมณฑลที่ไม่มีทางออกทะเลแห่งนี้

จากเดิมการขนส่งทางเรือต้องอ้อมสิงคโปร์ไปยังกรุงปักกิ่งและส่งกลับมายังยูนนาน ซึ่งทั้งท่อแก๊สและท่อน้ำมันต่างอยู่ภายในเงื้อมมือของ SAC แต่กลับไม่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการ 1027 อีกทั้งยังมีกระแสข่าวลือว่า หลังการปฏิบัติการได้มีการเจรจาระหว่างกองกำลังที่ร่วมปฏิบัติการ 1027 กับกองทัพพม่า ในเขตประเทศจีน

เหตุใดกองทัพพม่าจึงไม่โจมตีทางอากาศอย่างหนักต่อกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 พี่น้อง

การที่พม่าไม่เลือกตอบโต้ปฏิบัติการ 1027 อย่างหนักหน่วงอาจเกิดจากเหตุผลหลายประการ ทั้งปัจจุบันที่เศรษฐกิจพม่าน่าจะซบเซาอย่างรุนแรง และตลอดเวลาที่ผ่านมา SAC ได้ทุ่มเม็ดเงินจำนวนมากในการตอบโต้กองกำลังผู้ต่อต้านด้วยอากาศยาน ซึ่งมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูง และหลังจากมีการโจมตีด้วยอากาศยาน SAC จะใช้กองกำลังทหารราบเข้าไปยึดฐานคืน

นายกฤษณะกล่าวว่า ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารจะสังเกตเห็นว่าการตั้งฐานปฏิบัติการของกองทัพเมียนมาในพื้นที่ชายแดนกลับถูกโอบล้อมไปด้วยกองกำลังติดอาวุธ จนการตั้งฐานปฏิบัติการของของกองทัพพม่าเป็นไปเพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ และเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจกึ่งทางการ มากกว่าการตั้งฐานปฏิบัติการเพื่อป้องปรามหรือปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ

ดังนั้นการเข้าไปยึดฐานปฏิบัติการจึงเสมือนการเข้าไปอยู่ในวงล้อมของศัตรูอีกครั้งหนึ่ง และสุ่มเสี่ยงต่อการโจมตีจากผู้ต่อต้าน

แนวโน้มหลังจากปฏิบัติการ 1027 บนพื้นที่เมืองเล้าก์ก่าย

ปฏิบัติการ 1027 บนพื้นที่เมืองเล้าก์ก่าย อาจเป็นเหตุการณ์ที่ถูกนับรวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ 1027 แต่มีเงื่อนไขบางประการที่แตกต่างจากเหตุการณ์อื่น

เนื่องจากระยะแรก ปฏิบัติการ 1027 รบกับกองทัพพม่า นับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม จนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 พี่น้องสามารถยึดครองพื้นที่ต่างๆ กระทั่ง วันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการสู้รบพุ่งเป้าไปยังพื้นที่เมืองเล้าก์ก่าย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มทุนจีนเทา

อาจารย์ประจำหลักสูตรพม่าศึกษา กล่าวว่า หากมองจากไทม์ไลน์นับตั้งแต่เปิดปฏิบัติการ 1027 อาจต้องยกกรณีเล้าก์ก่ายออกมา เพราะมีการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก และเหมือนจะมีการรู้เห็นเป็นใจจาก SAC อีกทั้งการเลือกแทรกแซงของจีน อันนี้ต้องเข้าใจว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ที่เมืองเล้าก์ก่าย ได้มีการสังหารตำรวจสายลับของจีนจำนวน 4 ราย ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญของรัฐบาลจีนที่ต้องแสดงจุดยืนบางประการในการปราบปรามกลุ่มจีนเทา

แต่กองกำลังกองทัพว้าหรือ UWSA ซึ่งมีขีดความสามารถสูงกว่ากองกำลังอื่นไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ปฏิบัติการ 1027 บนพื้นที่เล้าก์ก่าย ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญต่อรัฐบาลไทย เนื่องจากตลอดแนวชายแดนไทย – พม่า บริเวณ อ.แม่สอด เต็มไปด้วยที่ตั้งของกลุ่มทุนจีนเทา ซึ่งรัฐบาลจีนอาจมีการกดดัน SAC รัฐบาลไทย หรือเลือกสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธในการปราบปรามกลุ่มจีนเทา อาจสร้างข้อกังวลให้แก่รัฐบาลไทยมากกว่ากรณีพื้นที่เมืองเล้าก์ก่าย เนื่องจากพื้นที่เมืองเล้าก์ก่ายอยู่ติดกับประเทศจีน

“ดังนั้นรัฐบาลไทยควรเตรียมพร้อมรับมือการไหลทะลักของจีนเทา เนื่องจากหลังจากรัฐประหาร รัฐบาลไทยมีประสบการณ์เพียงช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ” นายกฤษณะกล่าว

สิ่งที่น่ากังวลคือ การร่วมมือปฏิบัติการ 1027 ไม่ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พม่าหลังยุคเอกราช เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้ต่อต้านรัฐบาลพม่าจากกลุ่มต่าง ๆ มีการร่วมมือบ่อยครั้ง

โดยเฉพาะช่วงสงครามเย็น แต่การร่วมมือส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ร่วม หรือเป้าหมายบางประการ และหลังจากนั้นจะมีการสลายการร่วมมือ เนื่องจากความเห็นบางประการไม่ตรงกัน หรือถูกแทรกแซงจากกองทัพพม่า อย่างหลังถือว่าเป็นสิ่งอันตรายสำหรับผู้ต่อต้าน SAC เพราะจากอดีตที่ผ่านมา กองทัพพม่า ไม่ได้ใช้เพียงกำลังรบในการเข้าตีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ด้วยการมอบผลประโยชน์บางประการ จนเกิดลักษณะของการต่อสู้กันเอง

ประกอบกับปัจจุบัน กองกำลังผู้ต่อต้านยังขาดการร่วมมือระหว่างกันในลักษณะขององค์กรร่วมระดับชาติ ยังไม่มีทิศทางการเมืองที่ชัดเจน ขาดองค์กรนำที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และยังไม่มีแผนการในการปกครองหากได้รับชัยชนะจาก SAC

อีกทั้งการที่กองทัพพม่ายังเงียบ อาจเป็นไปเนื่องจากการขาดแคลนเม็ดเงินในการซื้ออาวุธ และเชื้อเพลิง การขาดแคลนทหารที่มาประจำการ หรือกำลังแสวงหาความร่วมมือจากมหาอำนาจอย่างรัสเซีย ที่มุ่งเน้นการขยายอำนาจ หรือจีนที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือกำลังแสวงหาความร่วมมือกับผู้ต่อต้านด้วยการหยิบยื่นผลประโยชน์บางประการ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ความเงียบมักตามด้วยพายุลูกใหญ่ หลังปีใหม่อาจมีการสู้รบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนระหว่างมี.ค.-พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กองทัพพม่ามีความพร้อมรบมากที่สุด หากพิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ เนื่องจากถนนในเมียนมาไม่ได้ดีทุกเส้น อาทิ ถนน ไม่ถูกตัดขาดเมื่อเทียบกับหน้าฝน

อีกทั้งในหน้าฝน คนต้องอยู่ในป่ายาวนาน แต่ในฤดูร้อน พืชพรรณ ใบไม้ในป่าที่ร่วงโรย ทำให้ขาดเกราะกำบังตามธรรมชาติ ส่งผลให้การเล็งเป้าหมายทางอากาศของกองทัพมีความแม่นยำมากขึ้น และการใช้ทหารราบร่วมรบกับกองกำลังผู้ต่อต้านที่ผันตัวร่วมมือกับกองทัพพม่า

สุจิตรา ธนะเศวตร

อ่าน มุมประวัติศาสตร์พม่าสู่แนวโน้มสถานการณ์สู้รบของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 พี่น้อง (ตอนที่ 1)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน