กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ไกด์ ภาคภูมิ ขอความเป็นธรรมให้กับนายทองสุก พันชมภู อายุ 82 ปี บิดา และนายเดิน จันทกล อายุ 70 ปี น้าชาย ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมข้อหาลักลอบตัดไม้พะยูง ทั้งที่ไม้ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของตนเอง และก่อนตัดได้แจ้งฝ่ายปกครองแล้วแต่เจ้าหน้าที่ไม่สนใจกระทั่งถูกจับในเวลาต่อมา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น

อ่านข่าว ป่าไม้ ประสานอัยการสั่งไม่ฟ้อง คุณตาตัดไม้พะยูงล้มในที่นา เชื่อไม่มีเจตนา พร้อมให้ความรู้แก่ชาวบ้าน

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายทองสุข พันชมภู อายุ 82 ปี และนายเดิน จันทกล อายุ 70 ปี ซึ่งถูกจับดำเนินคดีกรณีตัดไม้พะยูงในที่ดินของตนเอง เดินทางมาเข้าพบนายธวัชชัย ไทยเขียว นางกรรณิการ์ แสงทอง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยน.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ และนายอรรถพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เพื่อร่วมกันหารือเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือ และถอดบทเรียนการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวต่อไปในอนาคต

นายทองสุข กล่าวว่า ไม้พะยูงดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่นาของตน ซึ่งเมื่อช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหน้าฝนได้เกิดลมพายุพัดทำให้ไม้พะยูงดังกล่าวโค่นล้มขวางถนน ซึ่งตนก็ไม่ได้ไปตัด เพราะวันที่ไม้พะยูงโค่นล้มตนไม่ได้อยู่ที่นาดังกล่าว แต่อยู่ที่นาอีกแปลงหนึ่งและไม่ได้มาดู ซึ่งไม่รู้ว่าไม้มันล้ม โดยผู้ใหญ่บ้านก็ไปเรียกตนมาบอกว่าตาไม้ของตามันล้มขวางถนน ทำให้ชาวบ้านใช้สัญจรไม่ได้ และให้ตนไปตัดออก ซึ่งตน็รีบมาทำและเมื่อตัดแล้ว ก็มีคนที่ผ่านไปผ่านมาได้แนะนำตนว่า ไม้นี้ผิดกฎหมายอย่าแตะอีกนะ เมื่อเสร็จจากการทำนาเกี่ยวข้าวเสร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตนกับนายเดิน ก็นึกได้ จะไปตัดไม้ที่มันค้างอยู่มาทำฟืนเผาถ่าน โดยใช้เวลาตัดตั้งแต่ 11.00-14.00 น. ได้ไม้ 4 ท่อน และกลับไปกินข้าว โดยคิดว่าวันหลังจะกลับมาทำต่อ ซึ่งไม้ที่ตัดแล้วก็วางไว้ที่เดิมไม่ได้ค้นย้ายไปไหน โดยไม่ได้คิดจะนำไม้พะยูงนี้ไปขายหรือทำอย่างอื่นเลย

“ต่อมาวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผมไปช่วยงานบุญของคนในหมู่บ้านตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายสองโมง เมื่อใกล้เวลาจะแห่นาคเข้าโบสถ์ ก็มีผู้ใหญ่บ้านสองหมู่บ้านมาตามผมว่า ตามานี่เดี๋ยว ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะพาไปไหน จึงถามว่าจะพาไปไหน เขาก็บอกว่ามีเจ้าหน้าที่มารอผมอยู่ที่โคนไม้พะยูงที่ผมตัด เมื่อผมไปถึงเจ้าหน้าที่ก็ถามผมว่า ใครเป็นคนตัดไม้พะยูงต้นนี้ ผมก็ตอบทันทีเลยว่าผมเป็นคนตัด และก็ถามผมต่อว่า จะเอาไม้ไปทำอะไร ผมก็บอกว่า จะเอาไปทำฟืนทำถ่าน ไม่ได้คิดจะเอาไปขาย และหลังจากที่ตัดแล้วผมก็ไม่ได้เคลื่อนย้ายไม้ไปไหนก็วางไว้ที่เดิม ซึ่งวันนั้นกำนัน และผู้ใหญ่บ้านทั้ง 3 หมู่บ้านก็อยู่กับผมด้วย ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำตัวผมไปที่โรงพัก และถูกดำเนินคดีในข้อหาลักลอบตัดไม้พะยูง ผมก็นอนที่โรงพัก 1 คืน ไม่รู้จะทำอย่างไร วันต่อมาผู้ใหญ่บ้านก็มาประกันตัวผม” นายทองสุก กล่าว

ด้าน นายธวัชชัย กล่าวว่า กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่า กระบวนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกฎหมายให้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงกระบวนการให้บริการประชาชนตามพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนสำคัญของรัฐบาล โดยมีข้อสั่งการให้กระทรวงยุติธรรม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องรับไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและเห็นผลอย่างชัดเจนต่อไป

สำหรับกรณีการตัดไม้พะยูงของนายทองสุก ทางกระทรวงยุติธรรมลงไปให้การช่วยเหลือแล้ว ซึ่งในวันนี้จะประชุมเพื่ออนุมัติวงเงิน เพื่อใช้ในการขอยื่นประกันปล่อยตัวชั่วคราว และค่าจ้างทนายความ ถ้าคดีนี้พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าจะต้องส่งฟ้องอัยการ ซึ่งเราก็จะไปประกันตัวในชั้นอัยการ และช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะในชั้นสอบสวนนั้นทางผู้ใหญ่บ้านได้ไปประกันตัวก่อนหน้านี้แล้ว

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับไม้พะยูง เป็นไม้ห่วงห้ามประเภท ก. ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรตามมาตรา 7 ที่ได้แก้ไขตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 106/2557 และ 31/59 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือเป็นไม้หวงห้ามธรรมดา ซึ่งการทำไม้จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับสัมปทานตามมาตรา 6 พ.ร.บ.นี้ แห่งพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 ก่อน ดังนั้นไม้พะยูงจึงเป็นไม้ที่สามารถตัดได้ หากเป็นไม้ที่เกิดขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง โดยก่อนที่จะทำการตัดไม้นั้น เจ้าของต้องไปแจ้งต่อนายอำเภอ หลังจากนั้น นายอำเภอจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ก่อนจะแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อมีคำสั่งอนุญาติให้สามารถตัดไม้ได้หรือไม่ต่อไป

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับในวันที่เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการจับกุมนายทองสุก และนายเดินนั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้อยู่ด้วย ไม่เช่นนั้นเรื่องดังกล่าวอาจไม่เป็นเช่นนี้ อีกทั้ง การจับกุมก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม หลังจากทราบเรื่องแล้ว ทางกรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่าไม้พะยูงนี้เป็นไม้แห้งและยืนต้นตาย อีกทั้ง จากการสอบถามทราบว่านายทองสุกไม่ได้มีเจตนาที่จะตัดไม้เพื่อการค้าขาย เพียงแต่ที่ต้องตัด เพราะไม่โค่นล้มขวางการจราจร ซึ่งในส่วนนี้ทางกรมป่าไม้ได้ทำบันทึกส่งให้พนักงานสอบสวนไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว

“สาเหตุที่ต้องให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะตัดไม้พะยูงนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ที่ลักลอบตัดไม้พะยูงมักอ้างว่าเป็นการตัดไม้ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ที่ตัวเองถือครองอยู่ แต่ที่จริงแล้วกลับเป็นการตัดไม้พะยูงในพื้นที่ป่า จึงเป็นที่มาของกฎหมายและคำสั่งคสช. ดังกล่าว เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูงที่ปัจจุบันลดน้อยลง และให้เจ้าหน้าที่ได้พิสูจน์ทราบแน่ชัดก่อนว่า ไม้พะยูงดังกล่าวเกิดขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ของเจ้าของจริง” นายอรรถพล กล่าวและว่า ทั้งนี้เราอยู่ระหว่างเตรียมออกกฎกระทรวงว่า ด้วยเรื่องการทำไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเสนอกฤษฎีกา เรื่องให้ย้ายจากแจ้งนายอำเภอไปแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้จังหวัด โดยจะออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป ซึ่งขณะนี้เรากำลังแก้กฎดังกล่าวอยู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน