กรณีผู้ใช้เฟสบุ๊ค ไกด์ ภาคภูมิ ขอความเป็นธรรมให้กับนายทองสุก พันชมภู อายุ 82 ปี บิดา และนายเดิน จันทกล อายุ 70 ปี น้าชาย ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมข้อหาลักลอบตัดไม้พะยูง ทั้งที่ไม้ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของตนเอง และก่อนตัดได้แจ้งฝ่ายปกครองแล้วแต่เจ้าหน้าที่ไม่สนใจกระทั่งถูกจับในเวลาต่อมา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น

 

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ทราบว่า มีชาวบ้านเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แกดำ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม ว่ามีการลักลอบตัดไม้พะยูง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจึงเข้าตรวจสอบพบเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 จึงตรวจยึดจับกุมนายทองสุก และนายเดิน พร้อมของกลางเป็นไม้พะยูง 4 ท่อน ปริมาตร 0.8 ลูกบาศก์เมตร มีสภาพเป็นไม้เก่า และแจ้งข้อหาร่วมกันทำไม้หวงห้าม (ไม้พะยูง) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีไม้ท่อนหวงห้ามที่ยังไม่ได้แปรรูป (ไม้พะยูง) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

 

นายชีวะภาพ กล่าวต่อว่า แม้ต้นพะยูงดังกล่าวจะอยู่ในที่ดินของตนเอง แต่เนื่องจากต้นพะยูง จัดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ไม่สามารถตัดได้ หากจะตัดหรือนำไปแปรรูปต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนเท่านั้น แต่กรณีของนายทองสุข เบื้องต้นทราบว่าต้นพะยูงดังกล่าวโค่นล้มเองตามธรรมชาติ และขวางเส้นทาง ซึ่งนายทองสุขได้ไปแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ แต่ไม่มีการประสานงานแต่อย่างใด ผ่านไปหลายเดือนนายทองสุขและนายเดิน ซึ่งไม่ทราบข้อระเบียบในการตัดไม้หวงห้าม จึงใช้เลื่อยมือช่วยกันตัดต้นพะยูงที่ล้มอยู่ ออกเป็น 4 ท่อนเพื่อจะนำไปทำฟืน ถือว่าไม่มีเจตนาที่จะตัดไม้หวงห้ามแต่อย่างใด โดยขณะนี้ทั้งสองคนได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว มีโทษแค่รอลงอาญาและเปรียบเทียบปรับเท่านั้น

 

“เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จะประสานพนักงานสอบสวนเสนออัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะขาดเจตนา หรือไม่ได้ตั้งใจตัดไม้หวงห้าม เนื่องจากไม่ทราบกฎระเบียบของพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยกรมป่าไม้จะดำเนินการเข้าพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำทางด้านรูปคดี รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในท้องที่ต่างๆ ได้เข้าใจข้อกฎหมายในเรื่องนี้ต่อไป” หน.พยัคฆ์ไพร กล่าว

 

หน.พยัคฆ์ไพร กล่าวด้วยว่า สำหรับไม้หวงห้าม ประเภท ก ได้แก่ ไม้สัก, ไม้ยางนา และไม้พะยูง ซึ่งไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม ห้ามมีการตัดเด็ดขาด ไม้เหล่านี้มักขึ้นตามหัวไร่ปลายนา วัด หรือพื้นที่สาธารณะ โดยกฎหมายพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มีไว้เพื่อให้ไม้หวงห้ามเหล่านี้ไม่ถูกตัดโค่นเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป เพราะปัจจุบันไม้หวงห้ามค่อนข้างหายากแล้ว แต่กรณีที่มีความจำเป็นต้องตัดไม้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตนเองนั้น ต้องไปแจ้งต่อสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบว่าไม้หวงห้ามอยู่ในพื้นที่ของตนเองจริงหรือไม่ โดยนำโฉนดที่ดินมาเป็นหลักฐาน เจ้าหน้าที่จึงจะออกใบตัดไม้ทำประโยชน์ให้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน