กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีมติไม่รับคำร้องเรื่องการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว โดยให้เหตุผลว่าจากการสืบสวนยังไม่ทราบแน่ชัดว่า นายพอละจีเสียชีวิตแล้วหรือไม่ อีกทั้งยังไม่พบวัตถุพยานหรือพยานหลักฐานเพิ่มเติม ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

อ่านข่าว กสม.จี้คดีบิลลี่ บี้ดีเอสไอรับ อังคณายื่นช่วย เมียท้อ-ผิดหวัง ดีเอสไอแจงเหตุรับคดีพิเศษ

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาของนายพอละจี กล่าวว่า เตรียมเขียนจดหมายไปถึงดีเอสไอ เพื่อสอบถามถึงเหตุผลที่ไม่รับเรื่องของพี่บิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยจะอธิบายข้อสงสัยของตนที่มีต่อดีเอสไอ เพราะที่ผ่านมาดีเอสไอ เข้ามาเก็บพยานหลักฐานของพี่บิลลี่ไปจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดถึงระบุว่าไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ที่นำไปสู่การรับเป็นคดีพิเศษ ส่วนในรายละเอียดจะปรึกษากับทีมทนายอีกทีว่า จะเขียนในลักษณะอย่างไร ส่วนจะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไรนั้น ยังนึกไม่ออกจริงๆ เพราะตอนนี้มีความรู้สึกว่าไม่ภาคภูมิใจกับกระบวนการยุติธรรม

น.ส.พิณนภา กล่าวต่อว่า ในส่วนของครอบครัวตอนนี้ลูกทุกคนเริ่มรู้เรื่องของพ่อเขาแล้ว แต่ลูกคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คน ยังคงถามหาพ่อของเขาอยู่ ส่วนสภาพความเป็นอยู่ก็ยังคงลำบากเหมือนเดิม ต้องทำงานเลี้ยงลูกทั้ง 5 คน ทดแทนการขาดหายไปของพ่อเขาให้ดีที่สุด แต่ยังดีบ้างที่มีเพื่อนของพี่บิลลี่เข้ามาช่วยเหลือ เรื่องทุนการศึกษาของลูกๆ ก็ยังช่วยผ่อนผันไปได้ อย่างไรก็ตาม มีคนที่ไม่ได้อยู่ข้างชาวบ้าน เข้ามาพูดว่าหากออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพี่บิลลี่มากๆ อาจจะมีจุดจบเหมือนพี่บิลลี่

ขณะที่ นายลอรอง เมยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นต่อกรณีนายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกระเหรี่ยง ว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ติดตามคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหายนายบิลลี่อย่างใกล้ชิด พร้อมได้เข้าพบกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หลายครั้งและเรียกร้องให้ตรวจสอบคดีอย่างละเอียดและเป็นอิสระ แม้ว่ากระทรวงยุติธรรม รวมทั้งดีเอสไอ มีคำมั่นสัญญาที่จะให้ความสำคัญกับคดีนี้ แต่มติของดีเอสไอที่จะไม่รับคดีบิลลี่และยุติการตรวจสอบคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร มีความขัดแย้งกับคำมั่นสัญญาของรัฐบาล

นายลอรอง กล่าวต่อว่า ในเดือนมกราคม พ.ศ.2559 ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้การรับประกันว่าครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายจะได้รับการช่วยเหลือทุกอย่างในการค้นหาสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา ประกันว่าจะมีกระบวนการดำเนินคดีและลงโทษผู้ที่กระทำผิดและอยู่เบื้องหลังอย่างเป็นธรรม และสร้างคำมั่นสัญญาในการดำเนินการไม่ให้การกระทำที่เลวร้ายเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก ขณะนี้คณะทำงานด้านการบังคับให้บุคคลสูญหายของสหประชาชาติกำลังตรวจสอบ 82 กรณีที่บุคคลถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยอยู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน