จากกรณีโรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ จ.ชลบุรี ได้รับตัวเต่าตนุเพศเมีย อายุเต็มวัยประมาณ 25 ปี มารักษาร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังชาวบ้านพบถูกทิ้งไว้ในบ่อเลี้ยงเขตพื้นที่ ต.ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และพบว่าท้องของเต่ามีก้อนเนื้อออกมาช่วงบริเวณท้อง แต่เมื่อตรวจอย่างละเอียดด้วยเครื่องทีซีสแกนที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผลการตรวจปรากฏว่าเจอเหรียญอัดเป็นก้อนอยู่ในห้อง คณะสัตวแพทยศาสตร์จึงเตรียมผ่าตัดนำเหรียญออกมาจากท้อง พร้อมตั้งชื่อว่าเจ้าออมสิน เนื่องจากในท้องมีแต่เหรียญเหมือนกระปุกออมสิน ล่าสุดทีมแพทย์ผ่าตัด 7 ชม.ช่วยชีวิตเต่าตนุ เป็นครั้งแรกของโลก เผยเจอเกือบพันเหรียญ ในกระเพาะอาหารเจ้าออมสิน ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

อ่านข่าว ผ่าท้องเต่า เจอ915เหรียญ ทีมแพทย์ ช่วยชีวิต ได้สำเร็จ

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. รศ.สพญ.นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ในทีมสัตวแพทย์ที่ร่วมผ่าตัดเต่าตนุ หรือ เต่า ออมสิน ที่กลืนเหรียญเข้าไป 915 เหรียญ น้ำหนักรวม 5 กิโลกรัม เข้าไป ให้สัมภาษณ์อาการล่าสุดของเต่าออมสิน ว่า องค์ประกอบทุกอย่างอยู่ในสภาพที่น่าพอใจ ไม่มีปัญหาโรคแทรกซ้อน คาดว่าในวันพรุ่งนี้ (9 มี.ค.) น่าจะเริ่มทำกายภาพ หรือการช่วยดึงขาหน้า ขาหลัง เพื่อให้คลายอาการปวดเมื่อยได้

ด้านน.สพ.สุเมธ กมลนรนาถ ผอ.สวนสัตว์ดุสิต กล่าวว่า สัตว์ที่มักจะเจอปัญหาคนโยนเหรียญลงไปในบ่อ ซึ่งขณะนี้ทางสวนสัตว์ได้ทำกระจกกั้นเอาไว้ ไม่สามารถโยนอะไรเข้าไปในบ่อได้อีก เพราะปัญหาของการโยนสิ่งแปลกปลอมลงไปในบ่อสัตว์ไม่ได้มีผลเฉพาะเรื่องที่สัตว์กินเข้าไปเท่านั้น แต่ก่อความรำคาญ ทำให้อารมณ์สัตว์แปรปรวนได้ จึงขอร้องประชาชนที่มาเที่ยวสวนสัตว์ ได้โปรดอย่าโยนทั้งอาหาร และสิ่งแปลกปลอมใดๆ ลงไปในบ่อสัตว์เลี้ยงเด็ดขาด

ขณะที่ นส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ในการสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเต่าทะเล แม้ว่าจะพบการแพร่กระจายของเต่าทะเลในประเทศไทยจำนวน 5 ชนิด แต่พบการวางไข่ของเต่าทะเลเพียง 4 ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง และเต่าหญ้า พบวางไข่เฉพาะชายหาดบนแผ่นดินใหญ่ของฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

สำหรับเต่าตนุ และเต่ากระ มักพบวางไข่บนชายหาดของเกาะต่างๆ ทั้งบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แหล่งวางไข่เต่าทะเลที่สำคัญมีเหลือเพียง 10 แห่ง โดยมีแหล่งวางไข่ใหญ่ที่สุดที่บริเวณหมู่เกาะคราม รองลงมาเป็นหมู่เกาะสิมิลัน เต่าทะเลวางไข่ทุกๆ 1-3 ปี ในแต่ละฤดูกาลเต่าทะเลสามารถขึ้นวางไข่มากถึง 10 ครั้ง ทุกๆ 12 วัน โดยวางไข่เฉลี่ย 100 ฟองต่อครั้ง

อธิบดีทช. กล่าวอีกว่า แม้ว่าเต่าทะเลในประเทศไทยจะได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.ปี 2535 แต่สถิติการลดลงของเต่าทะเลก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มีสาเหตุหลักจากการติดเครื่องมือประมง การลักลอบเก็บไข่เต่า จากสถิติ ปี 2546-2559 พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวม 3,105 ตัว เฉลี่ยปีละประมาณ 200 ตัว ในจำนวนนี้ประกอบด้วยเต่าทะเลถึงร้อยละ 57 ซึ่งขยะทะเลนับเป็นสาเหตส่วนใหญ่ของการเกยตื้น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน