เจอเกือบพันเหรียญ! ในกระเพาะอาหาร”เจ้าออมสิน” เต่าตนุกลืนเหรียญ สัตวแพทย์ จุฬาฯ ใช้เวลาผ่าตัด 7 ชั่วโมงช่วยชีวิต พบน้ำหนักถึง 5 ก.ก. คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงผลหลังผ่าตัด ระบุการผ่าตัดนำเหรียญออกจากท้องเต่าตนุครั้งนี้เป็นครั้งแรกของโลก ชี้การโยนเหรียญลงไปในบ่อเต่าเหมือนเป็นการทำบาป ควรนำไปใส่ตู้บริจาคดีกว่า ทีมสัตวแพทย์ให้เต่าพักฟื้นและดูแลจนหายดี ก่อนปล่อยคืนสู่ท้องทะเลให้ไปดำรงชีวิตตามธรรมชาติ
จากกรณีโรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ จ.ชลบุรี ได้รับตัวเต่าตนุเพศเมีย อายุเต็มวัยประมาณ 25 ปี มารักษาร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังชาวบ้านพบถูกทิ้งไว้ในบ่อเลี้ยงเขตพื้นที่ ต.ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และพบว่าท้องของเต่ามีก้อนเนื้อออกมาช่วงบริเวณท้อง แต่เมื่อตรวจอย่างละเอียดด้วยเครื่องทีซีสแกนที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผลการตรวจปรากฏว่าเจอเหรียญอัดเป็นก้อนอยู่ในห้อง คณะสัตวแพทยศาสตร์จึงเตรียมผ่าตัดนำเหรียญออกมาจากท้อง พร้อมตั้งชื่อว่าเจ้าออมสิน เนื่องจากในท้องมีแต่เหรียญเหมือนกระปุกออมสิน ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มี.ค. สัตวแพทย์ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ได้นำตัวเต่าออมสินส่งไปเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลสัตว์ จุฬาฯ โดยการผ่าตัดครั้งนี้ ได้วางยาสลบแบบเดียวกับคนและสัตว์เลี้ยงทั่วไป จากนั้นผ่าตัดเปิดกระดองทางด้านท้องพบน้ำที่เกิดจากการอักเสบ ลำไส้อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ในกระเพาะเจอวัตถุแปลกปลอมขนาดใหญ่ แต่ไม่สามารถเอาออกมาทางแผลที่ช่องท้องได้ จึงทำการผ่ากระเพาะออกมา ปรากฏว่าพบมีเหรียญอยู่มากถึง 915 เหรียญ รวมน้ำหนักประมาณ 5 ก.ก.
โดยทีมสัตวแพทย์ใช้เวลาเอาเหรียญออกประมาณ 4 ชั่วโมง จากนั้นเย็บปิดกระเพาะอาหาร ส่วนตัวกระดองด้านนอกใช้กาวที่ใช้ปิดบาดแผลของคนและสัตว์ทาปิดเอาไว้ รวมเวลาในการผ่าตัดทั้งสิ้น 7 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำเต่าออกจากห้องผ่าตัดแล้วนำเข้าห้องพักฟื้น โดยจะให้เต่าได้พักฟื้นประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อหายดีเป็นปกติแล้วจะนำไปปล่อยคืนสู่ท้องทะเลเพื่อให้ดำรงชีวิตตามธรรมชาติต่อไป
ศ.นสพ.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงผลการผ่าตัดครั้งนี้ว่า เต่าตนุเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งที่มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นสัตว์ที่กินพืชจำพวกหญ้าทะเล สาหร่ายทะเล เป็นหลัก รวมทั้งแมงกะพรุน และลูกปลาตัวเล็กๆ มีอายุยืนถึง 80 ปี แต่ด้วยความเชื่อของคนว่าหากได้โยนเหรียญไปโดนเต่าแล้วจะมีอายุยืนยาว บ้างก็ต้องการทำบุญเป็นทานให้กับสัตว์ ทำให้เต่าจำนวนมากต้องอาศัยในบ่อ รวมกับเหรียญและธนบัตรเกือบตลอดชีวิต
“บ้างก็ตายก่อนสิ้นอายุขัย ดังนั้น หากต้องการจะทำบุญให้กับสัตว์ควรนำเหรียญหรือธนบัตรไปหยอดในตู้ที่ตัดไว้ การโยนเหรียญลงไปให้กระทบกับเต่าเหมือนเป็นการทำบาปมากกว่าทำบุญ เพราะทำให้สัตว์เกิดความทรมาน การผ่าตัดเพื่อนำเหรียญออกจากท้องเต่าตนุครั้งนี้เป็นครั้งแรกของโลกที่ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือรักษา โดยใช้งบประมาณจากการบริจาคของประชาชน” ศ.นสพ.รุ่งโรจน์ กล่าว
ด้าน รศ.สพญ.นันทริกา ชันซื่อ ผอ. ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เต่าออมสินเป็นเต่าตัวเมีย อายุประมาณ 25 ปี รับตัวมาจากศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือสัตหีบ ที่ได้รับมาจากบ่อเต่า อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อเต่ามาถึงมีอาการเบื้องต้นคือ ซึม ไม่ค่อยว่ายน้ำ จะเคลื่อนตัวเมื่อถูกกระตุ้น หรือเพื่อกินอาหารเท่านั้น ลำตัวส่วนหน้าลอย ส่วนหลังจมเป็นมุมเอียงซ้าย ตรวจพบบริเวณหน้าท้องมีการ กร่อนหายไปของกระดูกจนมีลักษณะนิ่ม จึงประชุมทีมสัตวแพทย์ หลังการวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา โดย สพญ.รำไพภัทร เพ็ญโฉม พบว่าในกระเพาะอาหารเต่ามีวัตถุลักษณะคล้ายเหรียญกษาปณ์ ขนาดประมาณ 20 x 23 x 20 ซ.ม.อัดแน่นอยู่ อีกทั้งในลำไส้ยังพบเบ็ดกับเหรียญอีก 2 เหรียญ จึงมีความเห็นว่าต้องทำการผ่าตัดเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา มิฉะนั้นจะเกิดการอุดตันจนเต่าจะกินอาหารและขับถ่ายออกมาไม่ได้จนทรุดโทรมและจะตายในที่สุด
ขณะที่ ผศ.ภาสกร พฤกษะวัน อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ กล่าวว่า วันนี้ใช้ทีมสัตวแพทย์ศัลยกรรม 5 คน ใช้เวลาในการผ่าตัดเต่าออมสิน ประมาณ 4 ชั่วโมง และดึงเหรียญที่อัดแน่นอยู่ออกมา เหรียญที่เอาออกมานั้นมาจากหลายชาติหลายประเทศ บางเหรียญถูกหลอมติดกันภายในกระเพาะอาหารนั่นเอง ซึ่งระหว่างการผ่าตัดต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารฉีกขาดอย่างมาก น้ำหนักเหรียญที่เอาออกมานั้นชั่งได้รวม 5 ก.ก.ด้วยกัน หลังผ่าตัดจะงดให้อาหารเต่า 1-2 สัปดาห์ แต่จะให้น้ำเกลือแทน โดยขณะนี้เต่าออมสินปลอดภัย อยู่ในห้องพักฟื้น ซึ่งคณะสัตวแพทย์จะให้การดูแลอย่างใกล้ชิด