เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ห้อง 604 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ตัวแทน กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มสิทธิเด็ก กลุ่มดินสอสี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มเยาวชนดีจังยังทีม และอีกหลายองค์กร เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ทหารกระทำวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเพื่อสังคมชาวลาหู่ พร้อมดำเนินงานเชิงรุก เพื่อยุติความรุนแรง และการข่มขู่คุกคามที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ครอบครัวของผู้เสียชีวิต พยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ นักพัฒนา บุคคลและกลุ่มบุคคล ตลอดจนชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน

อ่านข่าว ถ้าเป็นผมกดออโต้ แม่ทัพ3 ป้องทหารที่จับตาย ยันยิง”ลาหู่”นัดเดียว กระทำสมเหตุสมผล แต่บุญน้องมีแค่นั้น ทนายเหยื่อลงพื้นที่ ชาวบ้านยังหวาดผวา

นางอังคณา กล่าวหลังรับหนังสือว่า ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 กรณีผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับคดีความใดๆ ที่กระบวนการสืบสวนสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ หรือคดียังไม่สิ้นสุด ให้คิดเสมอว่าบุคคลนั้นยังบริสุทธิ์ ดังนั้นกรณีนายชัยภูมิ ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม และมีการออกมาให้ข่าวจากหลายภาคส่วนในเชิงกล่าวหา ถือว่าชี้นำสังคมให้ผู้เสียชีวิตเป็นผู้กระทำผิด ถือเป็นการเลือกปฏิบัติกับเยาวชนชาติพันธุ์ กรณีนี้ตามหลักสากลเป็นการละเมิดสิทธิอย่างมาก และการทำงานของกสม.จะไม่มองหรือตรวจสอบเพียงแค่สิทธิพลเมืองทั่วไปเท่านั้น แต่กรณีของนายชัยภูมิ จำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่า เขาเป็นเยาวชน เป็นนักกิจกรรม เป็นชาติพันธุ์ และเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน(ผู้ถือบัตรเลข 0) ที่เคลื่อนไหวหลายประเด็นเพื่อปกป้องสิทธิพลเมือง สิทธิเด็ก รวมทั้งการต่อสู่เรียกร้องด้านสัญชาติแก่เด็กและเยาวชนไร้สัญชาติด้วย
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า จากการรับเรื่องร้องเรียนทราบว่า มีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนที่เคลื่อนไหวและใกล้ชิดร่วมกับนายชัยภูมิ ถูกคุกคามถึงขนาดนำลูกกระสุนปืนไปวางไว้หน้าบ้าน ดังนั้น กสม.จำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 25 มี.ค. เพราะผู้ที่มีชีวิตอยู่ย่อมมีความเสี่ยงถูกละเมิดเช่นกัน รวมทั้งอาจจะเข้าพบนายพงศนัย แสงตะหล้า อายุ 19 ปี เพื่อนของนายชัยภูมิที่ถูกควบคุมตัว ซึ่งต้องขออนุญาตไปพบตามกระบวนการที่ถูกต้อง และอาจจะลงพื้นที่ไปยังชุมชนเพื่อพบบุคคลใกล้ชิด พยานที่อาจจะเกี่ยวข้องกับนายชัยภูมิด้วย


น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กรณีนี้ทนายความจำเป็นต้องทำงานเป็นสองส่วน คือ ไต่สวนการเสียชีวิตของ ชัยภูมิ และไต่สวนข้อเท็จจริงของเพื่อนชัยภูมิ ที่ถูกควบคุมตัว เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าถึงความยุติธรรม ซึ่งกระบวนการสืบสวนสอบสวนควรเป็นการดำเนินภายใต้กรอบกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ปัจจุบันคดีนี้กลับขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐที่ใครหลายคนจะมาพูดออกสื่อเมื่อใดก็ได้ การให้ข่าวในด้านเดียวตอนนี้ของเจ้าหน้าที่ฝ่านความมั่นคงเป็นการชี้นำให้สังคมตัดสินชัยภภูมิกับพวกเร็วเกินไป นอกจากนี้หลักฐานที่รัฐนำมาอ้างว่าชัยภูมิมีอาวุธในครอบครองพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่มีพยานออกมาเปิดเผยว่า พบเห็นการซ้อมและทารุณกรรมชัยภูมิก่อนจะวิสามัญนั้นค่อนข้างขัดแย้งกัน ซึ่งในทางกฎหมายดูไม่สมเหตุสมผลนัก ดังนั้นฝ่ายสืบสวนสอบสวนต้องทำงานหนักเพื่อพิสูจน์อะไรคือจ้อเท็จจริงไม่ใช่ออกมาให้ข่าวทุกวันเพื่อทำให้คนเชื่อว่าชัยภูมิเป็นผู้ร้าย


ด้าน น.ส.รัตนาภรณ์ เจือแก้ว ตัวแทนจากกลุ่มดีจังยังทีม กล่าวว่า พวกเราโตมากับนายชัยภูมิ เราอยากให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างยุติธรรม และไม่เห็นด้วยกับกรณีแม่ทัพภาคที่ 3 ออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะส่งเสริมความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน แต่ควรพูดกันด้วยข้อเท็จจริงที่ผ่านการสืบสวนสอบสวนแล้ว


ขณะที่นายเกรียงไกร ชีช่วง คณะกรรมการสภาชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวว่า ฝ่ายรัฐพยายามห้ามไม่ให้พยานฝั่งชาวบ้านให้ข่าวกับสื่อมวลชน โดยอ้างว่าจะส่งผลให้ผิดรูปคดี ทำให้หลายคนกลัว หวาดระแวง แต่ผู้มีอำนาจกลับออกมาให้ข่าวในลักษณะชี้นำสังคมให้ร่วมตัดสินว่านายชัยภูมิ ผิดจริง ทั้งที่ยังไม่เปิดเผยหลักฐาน ซึ่งการตัดสินเช่นนี้ เท่ากับรัฐพยายามให้ข้อมูลฝ่ายเดียว จึงอยากให้ กสม.ร่วมตรวจสอบด้วยว่า กรณีเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน