เคลียร์ชัดจัดหาวัคซีนโควิดทางเลือกให้เอกชน ผู้ผลิตขายผ่านรัฐเท่านั้นในภาวะฉุกเฉิน รพ.เอกชนย้ำต้องจ่ายเงินเอง แต่ไม่เอากำไร มีพ่วงค่าประกันกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ราคาไม่เกิน 100 บาท ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาผลจากวัคซีนใน รพ.แต่ละแห่ง

วันที่ 8 พ.ค. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงข่าวผ่านระบบ Microsoft Teams เรื่อง องค์การเภสัชกรรมพร้อมจัดหาวัคซีนให้กับ รพ.เอกชน โดยมี นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. เป็นประธาน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รอง ผอ.อภ. และ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคม รพ.เอกชน เข้าร่วมแถลง

ภญ.ศิริกุล กล่าวว่า วัคซีนโควิด 19 เป็นการใช้ภาวะฉุกเฉินทั่วโลก บริษัทผู้ผลิตจะติดต่อกับภาครัฐเท่านั้น เนื่องจากจะมีเรื่องความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องรับ และเพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและโปร่งใสในการนำเข้าวัคซีนและจำหน่ายกับภาคเอกชน โดย อภ. จึงต้องชี้แจงดังนี้ บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะกำหนดให้คู่สัญญาต้องเป็นภาครัฐเท่านั้น มีเอกสารและข้อตกลงทางกฎหมาย 4 ฉบับ เริ่มจากหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนจัดหาวัคซีน

เคลียร์ชัด วัคซีนทางเลือก อภ.กระจายให้เอกชน ย้ำต้องจ่ายเงินเองพ่วงประกัน

จากนั้นบริษัทและ อภ.จะเซ็นเอกสารรักษาความลับ มีเอกสารข้อเสนอการจัดหา โดยจะมีการปล่อยเอกสารเพื่อให้ตัวแทนนำไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เมื่อได้ทะเบียน จะเป็นการตกลงจำนวนและการจัดส่งว่าเป็นเท่าไรและเมื่อไร นอกจากนี้ จะมีเอกสารและข้อตกลงทางกฎหมาย 1 ฉบับ ระหว่าง อภ.และ รพ.เอกชน ซึ่งกรณีนี้ รพ.เอกชนจะทำประกันกรณีหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ นี่คือกระบวนการทำงานไม่ว่าประเทศใดก็ต้องดำเนินการตามนี้

นพ.เฉลิม กล่าวว่า การนำเข้าวัคซีนซึ่งอยู่ในเฟส 3 กติกาทั่วโลกคือต้องผ่านทางรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีการช่วยฉีดวัคซีนโควิดด้วยการฉีดทุกที่ ฉีดให้บุคคลทั่วไปไม่ใช่แค่ฐานลูกค้าเท่านั้น เราต้องการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในสมาชิกและนอกสมาชิกของเราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีวัคซีนที่ต้องจ่ายเงินเองนั้น สมาคมฯ ได้สำรวจความต้องการฉีดวัคซีนว่า ใครต้องการเท่าไร ก็จะทำหนังสือคู่กับ อภ.เพื่อจัดหาวัคซีน แต่ต้องเรียนว่า สำหรับ รพ.เอกชนอยากให้มีวัคซีนก่อน จึงจะเปิดทำการจอง ส่วนราคาฉีดทั่วประเทศ วัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการช่วยให้คนได้ฉีดวัคซีนมากที่สุด ซึ่งจะราคาเดียวกันหมด

เคลียร์ชัด วัคซีนทางเลือก อภ.กระจายให้เอกชน ย้ำต้องจ่ายเงินเองพ่วงประกัน

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า อภ.อยากให้เกิดความมั่นใจว่า ได้ทำหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ประชาชน โดยไม่เน้นผลกำไร ซึ่งเรามาอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญการที่ อภ.มาช่วย เพราะบริษัทผู้ผลิตมีข้อกำหนดว่า จะซื้อขายกับภาครัฐเท่านั้น เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉิน จึงเป็นที่มาที่ อภ.จะเป็นตัวแทนในการกระจายให้กับภาคเอกชน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการสำรวจความต้องการวัคซีน นพ.เฉลิม กล่าวว่า ขณะนี้ให้เอกชนสำรวจภายในของตนเอง เพราะทุกคนมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ส่วนวัคซีนที่ต้องจ่ายเงินเอง เราไม่เน้นกำไร จะมีการคิดค่าบริการจากต้นทุนวัคซีน ค่าบริการ ค่าสังเกตอาการหลังการฉีด และค่าประกัน ซึ่งตัวแปรสำคัญคือต้นทุนวัคซีนที่จะนำเข้ามาแต่ละตัวจะไม่เท่ากัน โดยขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะเป็นตัวไหน จึงยังไม่สามารถระบุราคาแพคเกจได้ แต่ในส่วนของค่าประกันเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนนั้นได้มีการหารือกับ คปภ.แล้วเบื้องต้น โดยได้ออกแบบให้มีผลตั้งแต่เข็มที่ 1 และครอบคลุม 90 วัน ซึ่งราคาทำประกันจะอยู่ในกรอบ 50-100 บาท โดยจะไม่ให้เกิน 100 บาท

“การบริการวัคซีนทางเลือกในส่วนของรพ.เอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมรพ.เอกชนที่มีเกือบ 400 แห่งทั่วประเทศจะเป็นแพคเกจที่มีราคาเดียวกันทั่วประเทศ เพราะการให้บริการตรงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนมากขึ้น เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว ไม่ได้หวังกำไร แต่ยังไม่สามารถระบุราคาแพคเกจได้ เพราะยังไม่ทราบราคาต้นทุนวัคซีนดังที่กล่าว”ศ.นพ.เฉลิมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีมีผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิดจะดำเนินการอย่างไร นพ.เฉลิม กล่าวว่า ต้องขึ้นกับคณะแพทย์ของทาง รพ.ว่า เกิดจากผลแทรกซ้อนของวัคซีนหรือไม่ เช่น หากเป็นอาการปานกลางครอบคลุม 1 แสนบาท แต่กรณีเสียชีวิตจะครอบคลุม 1 ล้านบาท ประเด็นอยู่ที่ว่า ต้องมีคณะกรรมการแพทย์ของแต่ละ รพ.เป็นผู้ลงความคิดเห็น

ถามว่ารพ.เอกชนระบุไทม์ไลน์ได้หรือไม่ว่าจะสามารถให้บริการวัคซีนทางเลือกกับประชาชนได้เมื่อไร นพ.เฉลิม กล่าวว่า วัคซีนที่จะนำเข้ามาต้องขึ้นทะเบียนกับ อย.ไทยก่อน โดยขณะนี้ที่ผ่านขึ้นทะเบียนแล้ว คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโมเดอร์นาที่อยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด 19 ที่มีการใช้อยู่ขณะนี้มี 4 แพลตฟอร์ม คือ ชนิดเชื้อตาย ไวรัลแวกเตอร์ ซึ่ง2 แพลตฟอร์มนี้ใข้โดยรัฐแล้ว ชนิดmRNA อย่างไฟเซอร์ก็น่าจะเป็นจัดหาโดยรัฐ และชนิดโปรตีนเบส เช่น โนวาแวกซ์หรืออื่นๆ ซึ่งหากชนิดไหนที่ไม่ได้ใช้ในภาครัฐ ก็จะเป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนจ่ายเงินเอง แต่จะนำเข้ามาได้เมื่อไรต้องให้บริษัทผู้ผลิตเป็นคนตอบ เพราะขณะนี้ทุกบริษัทตอบระยะเวลาได้เพียงจะให้เร็วที่สุดเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ได้เจรจาเบื้องต้นกับบริษัทผู้ผลิตรายใดแล้วหรือไม่เกี่ยวกับวัคซีนทางเลือกนี้ นพ.เฉลิม กล่าวว่า เนื่องจากรพ.เอกชนบางแห่งมีใบอนุญาตนำเข้าชีววัตถุจากอย.อยู่แล้ว จึงจะพยายามช่วยเจรจาอีกทางหนึ่ง แต่โดยหลักจะเป็นอภ.ที่จะจัดหาได้มากกว่า เพราะบริษัทผู้ผลิตมีข้อกำหนดดีลกับรัฐเป็นหลัก

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนทางเลือกให้กับรพ.เอกชนนี้จะไม่เป็นวัคซีนตัวเดียวกับภาครัฐ เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ใน 3 ตัว โดยขณะนี้มีวัคซีนโมเดอร์นาที่ยื่นขึ้นทะเบียนกับอย.ไทยแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนว่าจะนำเข้ามาได้เร็วแค่ไหน ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยหารือในรายละเอียด ส่วนตัวอื่น คือ ซิโนฟาร์มแต่ยังไม่มีการยื่นขึ้นทะเบียนกับอย.ไทยแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทยังไม่ได้ตัวแทนผู้ทรงสิทธิ์ที่แท้จริงที่จะได้รับข้อมูลรายละเอียดจากบริษัทผู้ผลิตให้มายื่นขึ้นทะเบียน และบริษัท บารัต ที่ยื่นขึ้นทะเบียนแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน