ชัชชาติ จ่อ ประกาศ 6 แขวง ในเขตลาดกระบัง เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย กทม. สั่งเขตสำรวจเก็บข้อมูลก่อนเยียวยาตามเกณฑ์ เผย ปชช.เสียหายกว่าหมื่นหลังคา

วันที่ 15 ก.ย.2565 ที่ศาลาว่าการกทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ว่า ขณะนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือแต่พื้นที่เขตลาดกระบัง กำลังเร่งระบายออกผ่านคลองแสนแสบ คลองพระโขนง และแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา หากฝนไม่ตกลงมาอีก คาดว่าไม่เกิน 7 วัน จะกลับเข้าสู่ปกติ

นายขจิต กล่าวต่อว่า โดย กทม. ได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย ทั้งทหารบก ทหารเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมชลประทาน ในการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ กระสอบทรายและกำลังพลในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ขณะที่คลองเปรมประชากร ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ 0.78 ม. ซึ่งหากประชาชนจุดใดที่ยังมีน้ำท่วมขังให้แจ้งสำนักงานเขตดอนเมือง เพื่อทำการสูบน้ำออกลงคลองเปรมประชากรได้

นายขจิต กล่าวอีกว่า ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ ยังไม่น่ากังวล โดยผ่านจุดวัดบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 2,638 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) และน้ำขึ้นสูงสุดที่จุดวัดปากคลองตลาด อยู่ที่ระดับ 1.38 ม.รทก. โดยแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมเจ้าพระยา สามารถรับได้ถึง 2.80 ม. โดยได้สั่งการให้ 17 เขตริมแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำ พร้อมจัดเตรียมกระสอบทรายไว้ตามแนวคัน ขณะที่จุดฟันหลอ ริมแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เพิ่มแนวกระสอบทราย เป็น 2.50 ม. จากเดิม 2.25 ม.แล้ว

นายขจิต กล่าวด้วยว่า สำหรับช่องทางการช่วยเหลือประชาชน มี 2 ช่องทาง ได้แก่ สายด่วน 1555 และแอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งได้สั่งการให้นำข้อมูลมารายงานทุกวัน เพื่อส่งให้สำนักงานเขต ลงพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์น้ำน่าจะดีขึ้น แต่ร่องความกดอากาศยังจะลงมาที่กทม.อีก ดังนั้น กทม. จึงเตรียมพร้อมทุกด้าน โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการพร่องน้ำตามคลองต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับมือฝนที่จะตกด้วย

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรับให้กทม.มีศูนย์กลางข้อมูล เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น ขณะเดียวกันสำนักการระบายน้ำ ได้ประสานกับกรมชลประทาน อย่างใกล้ชิดและเต็มที่ เพื่อนำข้อมูล ไปแจ้งสำนักงานเขต เพื่อให้สำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่จากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) และสำนักเทศกิจ (สนท.) ออกไปประจำจุดวิกฤตน้ำท่วม และจุดเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนเกิดฝนตก

น.ส.ทวิดา กล่าวต่อว่า พร้อมทั้งตั้งกองอำนวยการที่สำนักงานเขต 50 เขต และศูนย์บริหารจัดการข้อมูลสถานการณ์น้ำกรุงเทพมหานคร (วอลลูม) ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) เพื่อประสานงานและให้ความช่วยเหลือทุกด้าน ทั้งการจราจร การขนย้ายประชาชน แจกอาหาร ถุงยังชีพ ยารักษาโรค ดูแลผู้ป่วยติดเตียง การจัดตั้งศูนย์พักคอย สุขาเคลื่อนที่ ตลอดจนการเสริมความช่วยเหลือ โดยจัดทำสะพานไม้ และจัดทีมเข้าพื้นที่

น.ส.ทวิดา กล่าวอีกว่า ส่วนการให้ความช่วยเหลือประชาชน กทม.ได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ทั้งการจัดถุงยังชีพ การจ่ายเงินเยียวยา โดยขณะนี้สำนักงานเขตที่ได้รับผลกระทบ กำลังสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลและภาพถ่าย นอกจากนี้ ผู้ว่าฯกทม.เตรียมประกาศประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ในเขตลาดกระบัง ในบางแขวง ภายในวันนี้หรือวันที่ 16 ก.ย.นี้ ยืนยันว่าไม่ได้ประกาศให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก แต่เพื่อขอรับความช่วยเหลือและการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อีกส่วนหนึ่ง








Advertisement

โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาเดียวกันกับข้อบัญญัติของกทม.โดยแขวงที่จะประกาศ ประกอบด้วย 6 แขวง ได้แก่ แขวงลาดกระบัง แขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงขุมทอง แขวงทับยาว และ แขวงลำปลาทิว โดยได้สำรวจมีประชาชนได้รับความเสียหาย 10,300 หลังคาเรือน 20,767 คน พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย 1,322 ไร่ เป็นนาข้าว 800 ไร่ ไม้ผล-สวนผัก 22 ไร่ และบ่อปลา 500 ไร่

ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมาที่ไปพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้รับความร่วมมืออย่างดี ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำในเขตลาดกระบังวิกฤตที่สุด ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกนอกพื้นที่

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ซึ่งในโซนตะวันออก กรมชลประทาน รับผิดชอบระบายน้ำออกไปบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพราะน้ำด้านนนอกมันเยอะมาก ส่วนด้านใต้ ระบายน้ำออกผ่านคลองสำโรง ถ้าน้ำเยอะ ก็จะระบายออกยาก สุดท้ายต้องระบายมาแถวคลองประเวศ คลองพระโขนง ซึ่งระยะทางไกล กว่า 20 กม. และมีเส้นทางคดเคี้ยว

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ส่วนการลอกท่อของกรมราชทัณฑ์ ขณะนี้งานชะลอ จึงต้องหารือกับรมว.ยุติธรรม ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับประชาชนพบว่าเส้นทางที่ลอกท่อไปแล้ว เช่น ลาดพร้าว การระบายน้ำดีขึ้น จริง ๆ แล้วกรุงเทพฯ 80% น้ำไม่ท่วม มีท่วมเพียงบางจุด เพราะมีฝนตก 1,600 มม. เท่า ๆ กับค่าเฉลี่ยทั้งปี ซึ่งการแก้ปัญหาระยะสั้นทำให้ยาก เพราะมีปัญหาด้านกายภาพ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงเสนอแนวคิดทำทางด่วนน้ำ ซึ่งต้องมีแผนบูรณาการหลายจังหวัด

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า จริง ๆ แล้ว กรมชลประทาน มีแผนอยู่แล้ว ป่าสักอ่าวไทย เจ้าพระยาอ่าวไทย แต่เป็นโครงการระยะยาว ต้องเวนคืนที่ และมีปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งต้องใช้เวลานาน จึงต้องทำอุโมงค์น้ำ จากคลองลำปลาทิว ออกคลองร้อยคิว ระยะทางไม่เกิน 20 กม. เพื่อตัดน้ำจากลาดกระบัง ฝั่งตะวันออก ลงอ่าวไทยได้ทันที โดยใช้เวลาไม่นานและสามารถแก้ปัญหาน้ำในฝั่งตะวันออก โดยไม่ต้องผ่านเข้ากรุงเทพฯ

นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกใช้ไม่ได้แล้ว เพราะมีทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ และสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ หากทำอุโมงค์ดังกล่าวสำเร็จ จะแก้ปัญหาน้ำท่วมและพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯในฝั่งตะวันออก ซึ่งจะเชื่อมต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ส่วนความร่วมมือกับจังหวัดปริมณฑล จะนัดผู้ว่าฯจังหวัดนั้นๆหารือทีละจังหวัด และนัดรวมอีกครั้ง โดยกทม.จะเป็นเจ้าภาพเอง โดยจะหารือเรื่องน้ำ ซึ่งไม่กังวล เพราะกรมชลประทาน รับผิดชอบ แต่จะเน้นเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพราะหากพื้นที่รอบนอกมีการเผา จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ จะหารือกับ นายเสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เพื่อรับฟังความเห็นและแนวคิดในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ในประเด็นกรุงเทพนจมบาดาลใน 30 ปี ซึ่งจะต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ จะคิดว่าอีก 30 ปี ก็ตายก่อนแล้วไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มก็จะไม่ได้ทำอะไร จึงต้องมีแผนปฏิบัติการ โดยกทม.จะนำร่อง เสนอรัฐบาลต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน