เปิดรายละเอียดล่าสุด โครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท อายุ 16 ปีบริบูรณ์ ถึงวันไหน นับยอดเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท เผย หลักเกณฑ์ไหนยังคงเดิม

วันที่ 9 พ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการหารือรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระบบที่จะใช้ในการแจกเงินโครงการนี้

เกณฑ์อายุ 16 ปี

  • กำหนดให้จะต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 ก.ย.2567 หรือต้องเกิดก่อน 1 ต.ค.2551

เกณฑ์เงินฝากกำหนดไม่เกิน 500,000 บาท

นับยอดเงินฝากทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝาก ผลิตภัณฑ์เงินฝาก

  • นับยอดบัญชีเงินฝากถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
  • เงินฝากดังกล่าว ต้องเป็นเงินฝากสกุลเงินบาทเท่านั้น
  • ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์

เกณฑ์รายได้ ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี

  • วัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธันวาคม 2566
  • นับรวมทุกรายได้ที่ยื่นในระบบภาษี (เงินเดือน, ค่าจ้าง, ค่างานฟรีแลนซ์, ค่ารับเหมา, ค่าเช่า, ดอกเบี้ย ปันผล, รายได้ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ)

รายละเอียดอื่น ยังคงเดิม

สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังคงเป็นไปตามเดิม ดังนี้

  • การลงทะเบียนจะเริ่มต้นภายในไตรมาส 3 ของปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาส 4 ของปี 2567
  • เกณฑ์ซื้อสินค้า ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิม ยกเว้นบริการและสินค้าต้องห้าม (สินค้าที่ยกเว้น คือ สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม)
  • เกณฑ์ร้านค้าขนาดเล็ก ยังเป็นเหมือนเดิม เข้าร่วมได้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา (ยกเว้น ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต)

ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว สำหรับสินค้า Negative List ยังไม่มีการพิจารณาเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการนัดประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า การประชุมวันนี้ส่วนใหญ่เป็นการหารือในเรื่องระบบ และเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้โครงการดำเนินต่อไปได้ เช่น เรื่องการยืนยันตัวตนจะเชื่อมอย่างไร ตัดสิทธิที่วันไหน เรื่องเงินฝากตัดวันไหน รวมอะไรบ้าง

รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงการ อาทิ การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากร กรมการปกครอง เป็นต้น เพื่อหาข้อสรุปและดำเนินการต่อ

“แอพพลิเคชันที่จะใช้ในโครงการ กระบวนการยังดำเนินต่อเนื่อง ต้องมีการทำข้อตกลงกับหลายหน่วยงาน เช่น การตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินฝาก ก็จะต้องหารือกันว่าจะเชื่อมถังข้อมูลอย่างไร ใครรับผิดชอบส่วนไหน โดยเบื้องต้นจะใช้แอพพลิเคชันทางรัฐในการเชื่อมโยงข้อมูล” นายเผ่าภูมิ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน