เปิดรายชื่อ 10 จังหวัดได้ฉีควัคซีน ‘โควิด’ ก่อน โพลชี้ 70% อยากฉีดแม้ไร้ติดเชื้อ ให้บริการในสถานพยาบาลที่มีแพทย์และห้องฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน
เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 กล่าวถึงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ว่า กลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด 19 ในไทย แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด วัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรค และรักษาระบบสุขภาพของประเทศ กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน 2.บุคคลที่มีโรคประจำตัวตามที่กำหนดไว้แล้ว 3.ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ วัตถุประสงค์เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1
- อ่าน จุฬาฯ ประกาศปิดมหาวิทยาลัย 17 วัน 12-28 ก.พ. หลัง ‘โควิด’ ระบาด
- อ่าน เปิดไทม์ไลน์เจ้าหน้าที่ รพ.พระนั่งเกล้า ตั้งครรภ์ ติดโควิด เร่งหาที่มา
2.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นที่นอกเหนือจากด่านหน้า 3.ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์ 4.ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ 5.ประชาชนทั่วไป 6. นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และ 7.แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า พื้นที่เป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในระยะเร่งด่วน ช่วงเดือนก.พ.-เม.ย.2564 จำนวน 2 ล้านโดสแรก จะกระจายใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ สมุทรสาคร กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ,
พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด และพื้นที่ที่มีการพบการติดเชื้อต่อเนื่อง คือ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยจะให้บริการในสถานพยาบาลที่มีแพทย์และห้องฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น โดย 1 คนจะฉีด 2 เข็ม ดังนี้
1.สมุทรสาคร 8.2 แสนโดส จำนวน 4.1 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 36,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.5 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 2.1 แสนคน
2.กรุงเทพฯ 8 แสนโดส จำนวน 4 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 32,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 1 แสนคน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1.6 แสนคน
3.นนทบุรี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
4.ปทุมธานี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
5.สมุทรปราการ 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 5,000 คน
6.ระยอง 18,000 โดส จำนวน 9,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
7.ชลบุรี 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 10,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
8.จันทบุรี 16,000 โดส จำนวน 8,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน
9.ตราด 12,000 โดส จำนวน 6,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,000 คน
10.ตาก 1.6 แสนโดส จำนวน 80,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 10,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,000 คน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 50,000 คน
รวมทั้งสิ้น 1,934,000 โดส จำนวน 967,000 คน ส่วนอีก 66,000 โดส สำหรับ 33,000 คนนั้นจะสำรองไว้เผื่อมีพื้นที่อื่นระบาดเกิดขึ้น โดยจะให้กับพื้นที่ที่อยู่โดยรอบพื้นที่ระบาดเพื่อเป็นการสกัดวงการแพร่เชื้อ
สำหรับระยะที่ 2 จำนวน 61 ล้านโดส จะกระจายในช่วงเดือนมิ.ย.และให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 มีอัตราการฉีดในรพ.ที่แพทย์และห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ 1,000 แห่ง วันละ 500โดส 20 วันต่อเดือน เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่หากในอนาคตเมื่อวัคซีนมีความปลอดภัยมากขึ้นอาจพิจารณาขยายการให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำล (รพ.สต.) ขนาดใหญ่บางแห่งที่มีอุปกรณ์ฟื้นคืนชีพ
นพ.โสภณ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 26 ม.ค. – 8 ก.พ. 2564 จำนวน 2,879 ตัวอย่าง พบว่าเมื่อถามถึงกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีน ตอบบุคลากรทางการแพทย์ 70% ผู้สูงอายุ 40% ทุกคน 35% ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 33 % และเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ 22 % แต่ทางวิชาการกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เพราะวัคซีนเป็นการใช้ภาวะฉุกเฉินไม่ได้มีการทดลองใน 2 กลุ่มนี้
นอกจากนี้ หากไม่มีรายงานการติดเชื้อ การป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ยังต้องการฉีดวัคซีนมากน้อยแค่ไหน พบว่า ยังต้องการมาก ปานกลางและน้อย รวมประมาณ 70% ไม่ต้องการฉีด 18% และไม่แน่ใจ 12%