“หมอประสิทธิ์” ชี้โควิดเข้าสู่ปลายทางตามคาด เหตุคนฉีดวัคซีนมาก โรครุนแรงน้อย คล้ายหวัด จากนี้เข้าสู่นิวนอร์มอล เลือกใส่-ไม่ใส่แมสก์

วันที่ 30 ก.ย.65 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระยะต่อไปหลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังวันที่ 1 ต.ค. ว่า สถานการณ์โควิดปัจจุบันไม่ได้หลุดไปจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 3-4 เดือนก่อนว่า เรากำลังวิ่งเข้าสู่ปลายทางของโควิดด้วยเหตุผล คือ ทั่วโลกฉีดวัคซีนจำนวนมาก และสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่เร็ว แต่อาการไม่รุนแรง ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันคล้ายไข้หวัด

ซึ่งทั้งโลกขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันเกือบทั้งหมด ยกเว้นจีนที่ยังมีมาตรการค่อนข้างเข้ม ประเทศอื่นก็ผ่อนคลายมาตรการลงไปมาก เท่าที่ติดตาม 3-4 เดือนที่ผ่านมา ประเทศแถบยุโรปที่ผ่อนคลายตัวเลขก็ไม่ได้เลวร้ายลง ซึ่งไม่ได้หมายถึงผู้ติดเชื้อลดลง เพราะบางประเทศเลิกตรวจแล้ว แต่จะเห็นว่าตัวเลขเสียชีวิตทั่วโลกลดลงต่อเนื่อง

“นี่เป็นสัญญาณปลายของโควิด แต่คนที่ต้องระวังอยู่คือกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ฉีดซีน ฉีดไม่ครบ แม้ทุกวันนี้จะเสียชีวิตน้อยแต่ทั้งหมดเป็นกลุ่มเสี่ยงและยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ สิ่งที่จะเดินต่อไปในอนาคต ควรจะเป็นบทเรียนให้คนไทยได้ทบทวน เพราะเรารู้ว่าไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตลอดเวลา ตัวใหม่ๆ มาก็ไม่ต้องตกใจ เป็นธรรมชาติของไวรัส ตราบใดที่สายพันธุ์นั้นไม่ได้รุนแรงมากขึ้น หลายครั้งการกลายพันธุ์ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลงบ้าง แต่ยังป้องกันอาการรุนแรงได้ดี” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ที่อยากจะย้ำคืออีกหลายปีนับจากนี้ ในอดีตมีโรคซาร์ส เมอร์ส จนมาโควิด ล้วนเป็นไวรัสตระกูลโคโรนา วันดีคืนดีจะเจอสายพันธุ์รุนแรงขึ้น ขณะที่ 3-4 ปี นับจากนี้ภูมิคุ้มกันของคนในโลกไม่ใช่แบบนี้ ขึ้นอยู่กับบริษัทผลิตวัคซีนว่าจะทำให้ภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานแค่ไหน รวมถึงจะผลิตออกมาแบบใด แบบฉีดหรือแบบพ่น แต่หลายประเทศก็มีเทคโนโลยีการผลิต ก็น่าจะผลิตรองรับคนทั้งโลกได้มากขึ้น จากนี้การพัฒนาอาจจะไปที่ยารักษามากกว่า แต่บทเรียนของการป้องกันโรคติดต่อ คือ การไม่ใกล้ชิด ดังนั้น หากวันข้างหน้าเกิดโรคกลับมา ก็ขอให้คนไทยนึกถึงบทเรียนนี้ ตระหนักเรื่องป้องกันตนเองและครอบครัว ศิริราชได้สรุปบทเรียนที่จะออกมาในช่วงปีใหม่ ส่วนหน่วยงานอื่นก็คงถอดบทเรียนในส่วนที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่าจีนยังคงมาตรการ ZERO COVID หากเปิดท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว อาจเกิดระบาดได้อีก ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นอะไรที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ มีโอกาสระบาดได้ แต่ตราบใดที่คนในโลกนี้ภูมิคุ้มกันยังเยอะ มาก็ไม่เป็นอะไร เพราะจะเหมือนไข้หวัดที่ระบาดเป็นครั้งคราว ขณะเดียวกันถึงตอนนั้น เชื่อว่าคงไม่มีใครมานั่งตรวจใครฉีดวัคซีนหรือไม่ เหมือนบางโรคที่ไม่ได้จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ประเทศที่ตรวจเจอในต้นทางควรให้ข่าวที่ถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อให้ทั่วโลกจัดการกับมัน เชื่อว่าทั่วโลกจัดการไหว เราต้องเรียนรู้ ไม่ใช่ไม่เรียนรู้อะไรเลย

ถามว่าตอนนี้คนสามารถถอดหน้ากากได้แล้วใช่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าต่อไปในอนาคต นิวนอร์มอลของเราไม่ได้แปลว่าไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่หมายความว่าใครอยากใส่ก็ใส่ ไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องใส่ ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นการละเมิดสิทธิกัน ส่วนตัวมีแนวโน้มชอบใส่หน้ากาก เพราะเวลาไปไหนมาไหนก็เสี่ยงน้อยลง ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ต้องกลัว ดังนั้นนิวนอร์มอลไม่ได้หมายความว่าไม่ใส่หน้ากาก คนอาจจะใส่หน้ากากน้อยลง เหมือนใส่เสื้อนอก ผูกเนกไท ซึ่งบางคนก็ใส่หรือไม่ใส่ กลายเป็น “นอร์ม” คือต่างคนต่างยอมรับซึ่งกันและกัน ใครใคร่ใส่ก็ใส่ ใครไม่ใคร่ใส่ก็ไม่ต้องใส่

ถามย้ำว่าแปลว่าหลังวันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ชีวิตปกติของคนไทยคือนิวนอร์มอลใช่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า นิยามนิวนอร์มอลแปลความหมายกว้างมาก แต่ละคนไม่เหมือนกัน ของตนคือล้างมือบ่อยๆ แน่นอน มีแนวโน้มอยากใส่หน้ากาก ยิ่งเวลาไปที่ที่มีคนเยอะ เจอคนไอจามก็จะใส่หน้ากากก่อน เมื่อไรมีวัคซีนก็ฉีดแน่ๆ แต่คนอื่นอาจจะไม่ ดังนั้นคำว่านิวนอร์มอล หมายความว่าโลกนี้ผ่านกระบวนการที่เป็นการบังคับ หรือควบคุมอย่างเข้มงวดไปแล้ว ปัจจุบันไม่ได้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง นิวนอร์มอลของแต่ละคนคือดูแลสุขภาพของตัวเอง ป้องกันตัวเองให้แข็งแรง แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เราไม่ได้เป็นการกลับมาควบคุมทุกอย่างเหมือนเดิมอีก








Advertisement

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากนี้ไปจนถึงปีใหม่ยังต้องมีการติดตามว่าจะมีการกลายพันธุ์อะไรอีกหรือไม่ เชื่อว่าตอนนี้ทั่วโลกมีการติดตามอยู่ เพราะการกลายพันธุ์จะบอกพฤติกรรมของไวรัสนั้น หากเป็นการกลายพันธุ์ที่ไม่ได้ไปแตะในจุดที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง คิดว่านักวิทยาศาสตร์ที่ทำเรื่องนี้ก็คงไม่ได้ออกมาประกาศอะไร เพราะถ้าทุกครั้งต่างออกมาบอกว่ามีสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมา ซึ่งเป็นธรรมชาติของไวรัสอยู่แล้ว แต่การกลายพันธุ์นั้นไม่ก่อความรุนแรง ก็จะทำให้สังคมตื่นตกใจ แต่หากพบการกลายพันธุ์ที่มีสัญญาณไม่ค่อยดี คนที่มีหน้าที่โดยตรงก็มีหน้าที่ที่ต้องเตือนประชาชน

“ปัญหาทั่วโลกคือโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่กระจัดกระจายเยอะมาก ไม่มีการควบคุม ทำให้เกิดความสับสนในสังคม มีทั้งข้อมูลจริง กับ ความคิดเห็น ซึ่งบางครั้งความเห็นสอดคล้องข้อมูล บ้างก็สวนทาง ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นความคิดเห็น ซึ่งบางคนอาจจะมองโลกแบบรุนแรงไว้ก่อน และออกมาเตือนสังคม แต่คนรับสารควรมีดุลยพินิจ อย่าฟังจากแหล่งเดียวแล้วเชื่อทันที ให้หาข้อมูลรอบด้าน เป็นบทเรียนใหญ่ที่ทำให้คนไทยปรับตัวเองต่อการตอบสนองกับสื่อโซเซียลมีเดีย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน