ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการประชุมว่า พลังงานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญทั้งในวันนี้และอนาคต ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาแนวทางเพื่อการพัฒนาและเพิ่มการจัดหาพลังงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งประเด็นที่ทุกฝ่ายควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพิ่มเติม คือการที่ประเทศต้องพัฒนาตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งต้องมีโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกมาก ทำให้ความต้องการด้านพลังงานสูงขึ้นจากเดิมที่มีการประมาณการตัวเลขอยู่แล้ว

“ทุกฝ่ายต้องสร้างความเข้าใจกับสังคม ถึงเหตุผลที่ต้องจัดหาพลังงานเพิ่มเติม เพราะบางส่วนยังมองว่าตัวเลขที่ประมาณการณ์ไว้ เพียงพอแต่การใช้ในปัจจุบันอยู่แล้ว โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในประเทศ สำหรับวิธีการจัดหามีหลากหลายวิธี ทั้งถ่านหิน แก๊ส น้ำมัน แต่การเลือกจะใช้แนวทางใด ต้องสามารถตอบสนองความต้องการให้ได้มากที่สุด และ เป็นการหาทางออกท่ามกลางความขัดแย้งโดยวิธีที่ดีที่สุด และต้องคำนึงถึงความมั่นคงในด้านอื่นๆประกอบด้วย”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์

ด้านพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน แถลงผลการประชุมว่า กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมกพช. ในเดือนม.ค.2560 พิจารณารูปแบบการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผน ขอยืนยันความจำเป็นที่จะต้องเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ภายในปี 2560 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน และความมั่นคงทางพลังงาน เพราะขณะนี้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เริ่มใกล้เคียงกัน

เราจะเสนอที่ประชุมกพช.ครั้งต่อไป ในเดือนหน้า เป็นการเสนอในภาพรวมของภาคใต้ ซึ่งกฟผ.เตรียมภาพรวมทั้งหมด เราทำงานตามแผนที่กำหนดไว้ แต่จะให้กพช.ตัดสินใจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน กระทรวงพลังงานได้ติดตามข้อมูลทั้งหมด และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งมีทั้งแผนหลักและแผนสำรอง และขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน รวมถึงสอบถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการโรงไฟฟ้ารูปแบบใดด้วย

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2558-79 (PDP2015) จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 6 แห่ง กำลังผลิตรวม 5,800 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นก่อนเป็นการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าปลายปี 2562 แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ส่วนโรงไฟฟ้าที่จะเข้าระบบต่อไป คือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในจ.สงขลา ซึ่งจะมี 2 ระยะ โดยระยะแรก ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ากลางปี 2564 และระยะที่ 2 อีก 1,000 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าปี 2567 ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 3 แห่ง อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่

ทวารัฐ สูตะบุตร

ทวารัฐ สูตะบุตร

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. รายงานสถานการณ์พลังงานปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 ภาพรวมการใช้พลังงานในปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากปีก่อน สอดคล้องการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย คิดเป็นมูลค่าการใช้พลังงานรวม 1.95 ล้านล้านบาท มูลค่าการนำเข้าคิด ประมาณ 7 แสนล้านบาท การใช้นำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak ปี 2559 อยู่ที่ 30,973 เมกกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จากปี 2558 เนื่องจากอากาศที่ค่อนข้างร้อนจัดสะสมยาวนานหลายพื้นที่

ขณะที่แนวโน้มในปี 2560 แนวโน้มการใช้พลังงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peakในปีหน้าจะอยู่ที่ 31,365 เมกกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากปี 2559 ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ในแผน PDP 2015

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน