นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานและบริหารจัดการแก้ไขปัญหา กรณีเกิดเหตุขัดข้องของระบบรถไฟฟ้าขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมฑล เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานและบริหารจัดการแก้ไขปัญหาฯครั้งที่ 1 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอาณัติสัญญานของรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยบีทีเอสแจ้งว่าขณะนี้ได้เปลี่ยนมาใช้คลื่นความถี่ 2485-2495 เมกะเฮิร์ตและกำลังทยอยติดตั้งตัวกรองคลื่นรบกวนบางส่วนแล้ว แต่ยังพบอาการกระตุกของการเดินรถอยู่

ทั้งนี้ คาดว่าในเดือนต.ค.นี้ จะติดตั้งตัวกรองได้ครบทั้งหมด ซึ่งได้ร่วมกำหนดตัวชีวัดกับกรุเทพมหานครในฐานะผู้ให้สัมปทานเดินรถว่าไว้แล้วว่าภายในเดือนต.ค. รถจะกระตุกไม่เกิน 2-3 ครั้ง/เดือน ลดลงจากปัจจุบันที่เกิดปัญหากระตุกประมาณ 10 ครั้ง/วัน และลดลงจากช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ที่เกิดปัญหากระตุกมากถึง 200 ครั้ง/วัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้ทบทวนคู่มือแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุของระบบขนส่งสาธารณะทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลใหม่ให้ครอบคลุมเรื่องของอาณัติสัญญานเข้าไปด้วย รวมทั้งปรับแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุกรณีรถไฟฟ้าเกิดปัญหา ตามสถานะความระดับความรุนแรงของปัญหาให้ละเอียดมากขึ้น คือปรับจากเดิม 3 ระดับ เป็น 5 ระดับ

โดยแบ่งออกเป็น ระดับ 1. สีเหลือง ยอมรับได้กำหนด แก้ปัญหาได้ภายในไม่เกิน 5 นาที ระดับที่ 2 สีเขียว น้อย แก้ไขปัญหาได้ภายใน 5-15 นาทีในช่วงเวลาปกติ ระดับที่ 3 สีฟ้า ปานกลาง แก้ปัญหาได้ภายใน 5-15 นาทีในชั่วโมงเร่งด่วน ระดับที่ 4 สีส้ม สูง แก้ปัญหาเกิน 15 นาที และระดับที่ 5 สีแดง รถหยุดให้บริการ

ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอแผนปรับปรุงแล้วให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอนุมัติในประชุมครั้งที่ 2 ในเดือน ก.ย. และสรุปเสนอให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเห็นชอบในเดือนพ.ย. เพื่อให้หน่วยงานที่ทำข้อตกลงร่วมกันนำไปปฏิบัติต่อไป

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีมติให้มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการตามแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุด้วย เพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางในการบัญชาแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากการเดินรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งการทำงานก็จะคล้ายกับ ศูนย์บัญชาการกองอำนวยการค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ที่มีการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นหัวหน้าศูนย์บัญชาการในการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นอาจจะคัดเลือกจากผู้บัญชาการแผน จากประธานหรือรองประธานคณะกรรมการประสานงานฯ

ส่วนการชดเชยความเสียหายต่อผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากปัญหารถไฟฟ้าเสียนั้นไม่ได้อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดนี้ โดยในผู้ให้และผู้รับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าจะมีการตกลงกรอบความรับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหายเอาไว้แล้ว ต้องไปดูแต่ละสัญญาว่าเป็นอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน