“ฉัตรชัย”แจงผู้นำเข้าอียู มั่นใจประมงไทยปลอดไอยูยู ผู้นำเข้าย้ำสั่งซื้อสินค้าประมงไทยพุ่ง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้นำเข้าสินค้าประมงไทยในทวีปยุโรป ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยมีสมาคมผู้นำเข้าสินค้าประมงสหภาพยุโรปรายใหญ่เข้าร่วมงาน อาทิ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ประจำสหราชอาณาจักร สมาคมการค้าที่สนับสนุนการค้าอย่างยั่งยืน (AMFORI) ว่า

หลังจากสหภาพยุโรปปลดใบเหลือง การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (ไอยูยู) รวมถึงเรื่องของการค้ามนุษย์ ต้องขอบคุณผู้นำเข้าในกลุ่มอียู ยังคงให้ความเชื่อมั่นสินค้าประมงของไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะ Seafood Task Force ที่ช่วยสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนข้อแนะนำในการดำเนินการต่างๆ ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการที่แก้ไขปัญหาในระยะเวลาอันสั้น

ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้ปฏิรูปการประมงของประเทศ ก็เพื่อมุ่งไปสู่การประมงอย่างยั่งยืนไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านกรอบกฎหมาย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการปฏิรูปการประมงของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ ส่วนพระราชกำหนดการประมง 2558 และพระราชกำหนดเรือไทย 2561 เป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญา ข้อตกลงสากล

ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ หรือและองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ที่จุดมุ่งหมายให้มีการทำการประมงอย่างยั่งยืน และมีความรับผิดชอบ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงและกองเรือประมง ประเด็นที่หลายท่านเคยกังวลและตั้งคำถามอยู่เสมอว่าการประมงของประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ Over fishing หรือไม่ ภายใต้ความสามารถควบคุมกองเรือประมง ที่ทำการประมงได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะนี้ภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยดีขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมีการจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเป็นธรรมให้แก่ชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ นอกจากนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาการประมงย่างยั่งยืนผ่านโครงการปรับปรุงการทำการประมง ( Fisheries Improvement Project : FIP) ขณะนี้มีการพัฒนาอยู่ในหลายพื้นที่และหลายกลุ่มสัตว์น้ำ

ด้านประมงพื้นบ้านเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยการสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชนประมงชายฝั่ง และส่งเสริมให้เกิดการทำประมงภายใต้มาตรฐาน Blue Band ซึ่งเป็นมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อการทำการประมงที่ยั่งยืนของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) เพื่อการควบคุมเรือไทยและเรือต่างชาติให้เป็นไปตามกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้อง และมาตรการ PSMA ภายใต้การทำงานของศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (FMC) ซึ่งทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ใน 22 จังหวัดชายทะเลของไทย และด่านตรวจสัตว์น้ำ

“ผู้นำเข้าให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ สินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของไทยปราศจากการทำการประมงไอยูยู ยืนยันได้อย่างมั่นใจว่าวันนี้ระบบตรวจสอบย้อนกลับจนสามารถป้องกันสัตว์น้ำและสินค้าประมงผิดกฎหมายเข้ามาในสายการผลิตของไทย ไม่ว่าวัตถุดิบที่นำเข้าสู่การผลิตจะเป็นวัตถุดิบในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศทุกช่องทาง และประเทศไทยจะดำเนินการพัฒนาเรื่องนี้ไปอย่างต่อเนื่อง นำพาประเทศไทยไปสู่การเป็น IUU-free Thailand เพื่อให้ผู้บริโภคได้มั่นใจว่า สัตว์น้ำที่นำเข้าและส่งออกจากไทย จะไม่ได้มาจากการทำประมงไอยูยู”

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับด้านแรงงาน เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้นำเข้าให้ความสนใจ โดยตลอดช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีการแก้ไขปัญหาไอยูยู นั้น ประเด็นเรื่องแรงงานในภาคประมงทะเล เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีการดำเนินการควบคู่กันเพื่อให้มั่นใจว่า การใช้แรงงานในภาคประมงทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องนั้นอยู่ภายใต้หลักมนุษยธรรมและความรับผิดชอบ ซึ่งผลจากการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้การรับอนุสัญญา ILO C188 เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะหลักการที่สำคัญได้มีการดำเนินการอยู่แล้วอย่างครบถ้วน และคาดว่าในปีนี้ประเทศไทยจะมีการยื่นสัตยาบันอนุสัญญาฉบับดังกล่าว

นายบ็อบ มิลเลอร์ ผู้อำนวยการ ซีพีฟู้ด สหราชอาณาจักร และผู้ก่อตั้ง Seafood Task Force กล่าวว่า หลังจากอียูปลดใบเหลืองให้ประมงของไทย เชื่อว่าจะส่งผลดีจ่อภาพลักษณ์ของสินค้าประมงไทย และที่สุด เชื่อว่าความต้องการสั่งซื้อสินค้าประมงไทย จะเพิ่มขึ้นแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน