ไม่ล้มประมูล ‘ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3’ อีอีซีสั่งยืดเวลายื่นซองให้เอกชน แต่ยอมรับอาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน เพราะเป็นปัญหาที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ด้าน ‘สมคิด’ สั่งไปดูให้เหมาะสม

ไม่ล้มประมูลท่าเรือแหลมฉบัง 3 – จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2562 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูล โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ซึ่งปรากฎว่ามีบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว จากผู้ซื้อซองประมูลทั้งหมด 32 ราย แต่บริษัท แอสโซซิเอท ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ เนื่องจากไม่ได้เสนอหลักประกันซอง ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญมาด้วยนั้น

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า สาเหตุที่มีเอกชนยื่นซองประมูลเพียง 1 ราย เนื่องจากมีระยะเวลาให้เอกชนจัดทำข้อเสนอเพียง 2 เดือน จากปกติต้องให้เวลาประมาณ 3-4 เดือน

โดยต้องเข้าใจว่า เมื่อบริษัทขนาดใหญ่จะยื่นซองประมูล ก็ไม่ได้มีขั้นตอนการจัดทำข้อเสนอเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติ รวมถึงต้องพิจารณาด้านการเงิน และอื่นๆ ซึ่งใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน อีกทั้งบอร์ดของบริษัทขนาดใหญ่จะนัดประชุมแค่เดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น ส่งผลให้บริษัทใหญ่ไม่สามารถเสนอเรื่องให้บอร์ดพิจารณาได้ทันเวลา

นายคณิศ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาก็มีเอกชน 13 รายส่งหนังสือแจ้งประเด็นดังกล่าวให้ผู้เกี่ยวข้อง รับทราบแล้ว แต่การท่าเรือฯ และคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาขยายเวลายื่นข้อเสนอไม่ทันวันที่ 14 ม.ค. ส่งผลให้บริษัท แอสโซซิเอท ยื่นข้อเสนอได้เพียง 1 ราย แต่บริษัท แอสโซซิเอท ก็ส่งเอกสารไม่ครบถ้วน ซึ่งก็น่าจะเกิดจากระยะเวลากระชั้นชิด จึงเตรียมเอกสารไม่ทัน

ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะขยายเวลายื่นซองประมูลออกไปจากวันที่ 14 ม.ค. เพื่อให้เอกชนมีเวลาจัดทำเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งส่งผลให้ไม่ต้องล้มประมูลและเริ่มต้นกระบวนการใหม่ โดยการท่าเรือฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ที่ซื้อซองประมูลจำนวน 32 รายอีกครั้งในวันที่ 21 ม.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาว่าควรขยายเวลายื่นซองประมูลออกไปถึงเมื่อไหร่และควรปรับปรุงประเด็นใดเพิ่มเติมบ้าง

ทั้งนี้ นายคณิศยืนยันว่า การขยายเวลายื่นซองประมูลครั้งนี้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือว่ายังไม่มีใครมายื่นข้อเสนอ ส่วนผู้ที่ยื่นซองและตกคุณสมบัติไป 1 ราย เนื่องจากเอกสารไม่ครบ ก็จะถือว่าไม่ได้มายื่นซองประมูลด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเปิดโอกาสให้ บริษัท แอสโซซิเอท แก้ตัวใหม่ได้ โดยมั่นใจว่าการยืดเวลายื่นซองออกไป จะทำให้มีเอกชนยื่นซองเข้ามาจำนวนมาก

“ที่จริงแล้ว ถ้าเขาจะทำ เขาควรประชุมกรรมการฯ แล้วขอเลื่อนเวลา แต่เนื่องจากเขาไม่ทำ ก็มีเอกชนมายื่นซองไปแล้วในวันที่ 14 ม.ค. ตอนนี้เขาจึงจะประชุมแล้วขยายเวลาแทน โดยก่อนหน้านี้ก็มีเอกชนขอขยายเวลามา 13 ราย ตั้งแต่เดือนที่แล้ว เพราะเห็นว่ามันเร่งรัดเกินไป” นายคณิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเหตุการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นในของนักลงทุน เพราะมันไม่ควรมีปัญหานี้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางอีอีซี ก็บอกปัญหาเรื่องนี้ให้รับทราบล่วงหน้าแล้ว ว่ามีนักลงทุน 13 รายขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาการยื่นซอง แต่บางฝ่ายมองว่ามีนักลงทุน ‘แค่’ 13 รายที่กังวลในประเด็นนี้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการคาดโทษการท่าเรือฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการประมูลครั้งนี้หรือไม่ นายคณิศ ตอบว่า “บอกนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ไปแล้ว ท่านสมคิดก็บอกไปดูเหอะ ไปดูให้มันเหมาะสม”

ร้อยตำรวจตรีมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการเปิดซองเอกสารประกวดราคา โครงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 ท่าเรือ F วงเงินลงทุนกว่า 8.4 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ม
.ค.ที่ผ่านมา ว่า การท่าเรือฯ จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ตอบข้อซักถามและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ต่างๆ ในวันที่ 21 ม.ค. 2562 ระหว่างเวลา 09.00 – 11.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคาร ที่ทำการ การท่าเรือฯ จากกลุ่มผู้ลงทุนในเรื่องคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอโครงการฯ และระดมความคิดเห็นเพื่อประกอบเป็นแนวทางการดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือเอฟ วงเงิน 84,361 ล้านบาท มีเอกชนไทยและต่างชาติสนใจซื้อเอกสารประมูล 32 ราย มีจากไทย 17 ราย เช่น บริษัท ที ไอ พี เอส จำกัด, บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บจ. แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล, บมจ.เจดับเบิลยูดี อินโฟโลจิสติกส์, บจ.ซีเอชอีซี (ไทย), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บริษัท ซี.พี.โฮลดิ้งส์ คัมปะนี (ซี.พี.)

บริษัท สุมิโตโม คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย), บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (ปตท.), บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล, บริษัท บางกอก โมเดิร์น เทอร์มินอล จากญี่ปุ่น 3 ราย เช่น บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ฟูชิตะ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท มิตซุย จีน 4 ราย บริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง, บริษัทไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชั่น และบริษัท ไชน่า คอมมิวนิเคชั่น คอนสตรักชั่น จากฮ่องกง 1 ราย คือ บริษัท ไชน่า เมอชานท์ พอร์ท จากฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม

ทั้งนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอกรณีเป็นนิติบุคคลหลายรายรวมกัน เป็นกิจการร่วมค้าต้องมีสมาชิกที่เป็นนิติบุคคลไทย 1 ราย มีสัดส่วนการลงทุนเกินกว่า 25% และมีสมาชิกที่เป็นนิติบุคคลไทยมีสัดส่วนลงทุนรวมกันเกินกว่า 51% และจะต้องเป็นผู้ซื้อเอกสารทุกราย ต้องยื่นข้อเสนอ รวม 5 ซอง ได้แก่ ซองที่ 1 (ไม่ปิดผนึก) เป็นเอกสารมอบอำนาจ หลักฐานการซื้อเอกสารประมูล หลักประกันซอง เป็นต้น ซองที่ 2 (ปิดผนึก) ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 3 (ปิดผนึก) ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนการลงทุนในโครงการ ซองที่ 4 (ปิดผนึก) ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน ซองที่ 5 (ปิดผนึก) ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน