ดุสิตธานีผนึกซีพีเอ็น เปิดแผนผุด ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค ทุ่มงบกว่า 3.6 หมื่นล้าน ทวงคืนความยิ่งใหญ่เปิดย่านใหม่ซูเปอร์คอร์ซีบีดี

เปิดแผน ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค – นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการพัฒนาที่ดิน 23 ไร่ บริเวณมุมถนนสีลม-พระราม 4 หรือโรงแรมดุสิตธานีเดิม ภายใต้โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ออกแบบด้วยแนวคิด “Here for Bangkok” รูปแบบการพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูส ขนาดพื้นที่ 440,000 ตร.ม. มูลค่ารวม 36,700 ล้านบาท โดยการร่วมทุนระหว่าง ดุสิตธานี 60% และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น 40% ภายใต้บริษัท วิมานสุริยา จำกัด

รายละเอียดโครงการประกอบด้วย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ สูง 39 ชั้น ขนาด 250 ห้อง ซึ่งจะคงองค์ประกอบสำคัญของโรงแรมดุสิตธานีเดิมไว้ และจะเปิดให้บริการก่อนในช่วงปลายปี 2565 ขณะที่ในส่วนของศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งเป็นพื้นที่ค้าปลีกขนาด 80,000 ตร.ม. จะเริ่มเปิดให้บริการได้ราวไตรมาส 3 ปี 2566 และในปลายปีเดียวกันจะเปิดให้บริการเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส อาคารสำนักงาน เกรดเอ สูง 43 ชั้น โดยที่ในส่วนของอาคารชุดพักอาศัย ซึ่งทุกยูนิตเปิดรับวิวสวนลุมพินี จะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมให้เข้าอยู่อาศัยได้ในปี 2567 แบ่งเป็น 2 โครงการ มูลค่ารวม 16,000-17,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประกอบด้วยดุสิต เรสซิเดนเซส มี 159 ยูนิต รองรับกลุ่มเป้าหมายครอบครัว และนักลงทุน ทั้งคนไทยและต่างชาติ ขนาดห้องตั้งแต่ 120-600 ตร.ม. และดุสิต พาร์คไซต์ 230 ยูนิต เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบการใช้ชีวิตในเมือง ห้องชุดขนาดเริ่มที่ 60-80 ตร.ม. โดยทั้ง 2 โครงการพร้อมจะเปิดการขายได้ในกลางปีนี้ ส่วนราคาขายยังไม่สามารถเปิดเผยได้ และเนื่องจากเป็นห้องชุดสัญญาเช่าระยะยาว 60 ปี ทำให้ไม่จำกัดโควตาการขายให้ลูกค้าต่างชาติ

“เราต้องการสานต่อความยิ่งใหญ่กลับมาสู่พื้นที่นี้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วยพันธมิตรที่มาเติมเต็มให้ศักยภาพของโครงการนี้ ที่นำเอาความชำนาญของทั้ง 2 กลุ่ม ที่มีประสบการณ์ในแต่ละธุรกิจมากว่า 70 ปี เข้ามาด้วยกัน“นางศุภจี กล่าว

ด้านน.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมทุนพัฒนาโครงการนี้ร่วมกัน เพื่อสร้างซูเปอร์คอร์ ซีบีดี เพื่อจะเป็นตัวเติมเต็ม 4 ย่านสำคัญทั้ง 4 ทิศสำคัญของกรุงเทพฯ ได้แก่ย่านราชประสงค์ กรุงธนบุรี สุขุมวิท และเยาวราช รวมถึงเชื่อมย่านการเงินของถนนสีลม ซึ่งเป็นการสร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วกรุงเทพฯ

“โครงการนี้บริษัทตั้งใจจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ในการที่จะบุกเบิกและพลิกโฉมกรุงเทพมหานคร สร้างซูเปอร์คอร์ ซีบีดี เพื่อสร้างสรรค์บริบทใหม่ของการใช้ชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ และช่วยสร้างให้กรุงเทพฯ สู่มหานครที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก”นางวัลยา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน