ตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยสดใส ! พาณิชย์ หวังผุดกรีนโซน ในห้างจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ เชื่อมโยงสมาคมภัตตาคาร พร้อมบุกงานแฟร์โปรโมต อิงกระแสภาคท่องเที่ยวโตต่อเนื่อง

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวภายหลังการประชุมเชื่อมโยงการตลาดและเจรจาสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมประชารัฐ ว่า กระทรวงพาณิชย์ พร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้มีตลาดรองรับโดยเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เนื่องจากความต้องการสินค้ามีอยู่สูง แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปต่างประเทศ และขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
ซึ่งในที่ประชุมตนได้ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า เช่น ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต โลตัส แมคโคร ให้จัดกรีนโซน หรือโซน สีเขียวเป็นโซนจำหน่ายสินค้าอินทรีย์โดยเฉพาะจากเดิมที่จะวางปนอยู่ในโซนเดียวกับสินค้าประเภทอื่น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือทุกห้างพร้อมจะทำให้เกิดขึ้นจริงในเร็วๆนี้

ขณะเดียวกัน ก็ได้หารือกับทางสมาคมภัตตาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการใช้ผลผลิตอินทรีย์จากเกษตรกร ซึ่งก็ได้รับทราบข้อมูลว่า ทางสมาชิกของสมาคมฯ ต้องการใช้ผลผลิตจำนวนมาก แต่ข้อมูลของเกษตรกร ปริมาณการผลิตยังไม่ชัดเจน ทำให้ร้านอาหารที่ใช้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีไม่มากนัก

จากนี้ไป ทางสมาคมก็จะเร่งส่งเสริมให้สมาชิกหันมาใช้สินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น และทางกระทรวงก็จะปิดป้ายรับรองให้ว่า ภัตตาคารดังกล่าวใช้สินค้าเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ในช่วงสิ้นปีนี้จะมีการจัดงาน Food & Hotel Thailand 2019 ขึ้น ซึ่งเป็นงานที่สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมเชฟประเทศไทย และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกันจัดขึ้นทุกปี ก็ได้ขอความร่วมมือให้พื้นที่สีเขียวเพื่อจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ของเกษตรกรไทยในงานด้วย ก็จะเป็นอีกช่องทาง ในการทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

สำหรับมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์มีประมาณ 3,300 ล้านบาท ผลผลิตกว่า 60% ส่งออกไปต่างประเทศหรือว่า 2,000 ล้านบาทและมีแนวโน้มการขยายตัวของตลาดมากขึ้นทุกปี

ด้านนายอนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรเป็นสมาชิกสหพันธ์กว่า 3,000 ราย พื้นที่ 30,000 ไร่ กระจายอยู่ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ และจะผลักดันให้ขยายพื้นที่ไปให้ได้ 40 จังหวัด ซึ่งการขยายพื้นที่เพาะปลูกต้องค่อยเป็นค่อยไปเพราะการที่จะรับรองพื้นที่ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องผ่านการตรวจสอบ รับรองจากหลายหน่วยงาน และผลผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นข้าว ผัก และผลไม้
ซึ่งจากนี้ไปเมื่อทราบความต้องการผลผลิตจากผู้ประกอบการร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าต่างๆแล้วทางสหพันธ์ก็จะหารือกันเพื่อวางแผนการปลูกเพื่อส่งจำหน่ายให้เพียงพอต่อไป

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ร้านอาหารที่เป็นสมาชิกของสมาคมมีความต้องการที่จะใช้วัตถุดิบที่เป็นอินทรีย์อยู่แล้วเพื่อเป็นจุดขายในการดึงดูดให้ผู้บริโภคที่รักสุขภาพมาใช้บริการ โดยเฉพาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศทางยุโรป ที่ค่อนข้างเข้มงวดกับการรักษาสุขภาพ แต่ปัญหาคือไม่มีข้อมูลในการติดต่อกับกลุ่มเกษตรกรและความเสถียรของปริมาณผลผลิต เพราะจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก
เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตภาคการท่องเที่ยวของไทยขยายตัวทุกปีมูลค่ากว่า 3.3 ล้านล้านบาท เป็นในส่วนของภัตตาคารถึง 700,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่ทางกระทรวงพาณิชย์จัดให้ผู้ประกอบการได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลโดยตรงกับเกษตรกรในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตกระจายไปสู่ผู้ใช้ได้มากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน