นิคมอุตสาหกรรมแข่งดุหวั่นเกิดสงครามราคาที่ดิน – อมตะตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 950 ไร่ ส่วนภาพรวมลงทุนอีอีซีอืด กระทุ้งรัฐรื้อกระบวนการซับซ้อน

หวั่นเกิดสงครามราคาที่ดิน – นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันค่อนข้างมาก จนทำให้กังวลว่าอาจจะเกิดภาวะสงครามราคาที่ดินได้ โดยยอมรับขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการเกิดภาวะสงครามราคาที่ดินแล้ว ในส่วนของอมตะยังคงยืนยันที่จะขายในราคาเดิมเนื่องจากอมตะมีการพัฒนาที่ดินเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังมีการให้บริการหลังการขาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน

“ปัจจุบันมีนักลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งรายใหม่และรายเดิมแข่งขันกันมาก โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่หรือเส้นทางเดียวกัน เช่น นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ, โรจนะ, ปิ่นทอง และซีพี โดยกลุ่มอมตะยืนยันไม่ลดราคา เพราะมั่นใจในความเป็นมืออาชีพด้วยการบริการหลังการขายที่ดี ประกอบกับอมตะมีเป้าหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

วิบูลย์ กรมดิษฐ์

นายวิบูลย์ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินในไทย 950 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมซิตี้ จ.ชลบุรี ตั้งเป้าขาย 150 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมซิตี้ จ.ระยอง 500 ไร่ และไทยจีน 300 ไร่ คาดรายได้ที่รับรู้จากการขายที่ดินปีนี้ประมาณ 2,500 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 70% ของรายได้ที่รับรู้ จากยอดขายครึ่งแรกของปีนี้ (ม.ค-มิ.ย. 2562) อยู่ที่ประมาณ 200 กว่าไร่ ประกอบกับตั้งเป้าหมายยอดที่ดินในประเทศเวียดนามอีก 125 ไร่ รวมเป้าหมายยอดขายทั้งกลุ่มอมตะปีนี้อยู่ที่ 1,057 ไร่

ทั้งนี้ เนื่องจากได้อานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2-3 ที่น่าจะเห็นภาพการลงทุนชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนคาดจะมีการลงทุนมากกว่า 50% ของการลงทุนทั้งหมดของกลุ่มอมตะในไทย ใกล้เคียงกับปีก่อน อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เกษตร และอาหาร เป็นต้น

“ขณะนี้ประเมินแนวโน้มนักลงทุนต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จะเข้ามาลงทุนโดยตรงในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นลงทุนในนิคมฯอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ในสัดส่วน 62-63% จีน 2-3% และนิคมฯอมตะซิตี้ จ.ระยอง จีนลงทุน 36% ญี่ปุ่นลงทุน 31-32% เนื่องจากมีความได้เปรียบเรื่องที่ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ต้นทุนถูกกว่านิคมฯอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี 2 เท่า”

สำหรับภาพการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ชะลอตัวลง เนื่องจากโครงการลงทุนต่างๆ มีความล่าช้า ประกอบกับขั้นตอนขอยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีความซับซ้อน ต้องขอผ่านทั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก่อนกลับมายื่นที่อีอีซีอีกครั้ง แทนที่นักลงทุนจะสามารถยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนได้โดยตรงที่อีอีซีเบ็ดเสร็จจุดเดียวได้เลยทั้งที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อีอีซี บังคับใช้แล้ว รวมทั้งบุคลากรของอีอีซีมีจำนวนไม่เพียงพอในการทำงานเป็นอุปสรรคต่อการขอรับส่งเสริมการลงทุน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน