ศูนย์วิจัยกสิกรไทยลดเป้าจีดีพีปี’62 เหลือ 3.1% สงครามการค้ากดส่งออกทั้งปีไม่โต แต่มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งแรก

กสิกรไทยลดเป้าจีดีพีปี’62 – น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ของปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 3.1% จากเดิมประมาณการไว้ 3.7% โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นผลมาจากปัญหาสงครามการค้าที่มีความยืดเยื้อที่ส่งผลกระทบกับจีดีพีถึง 0.6% หรือ คิดเป็นมูลค่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากนี้ต้องติดตามผลการประชุม G20 และการหาทางออกของเกมการเมืองของประเทศจีน และสหรัฐ

รวมทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าเงินบาททั้งปีนี้ประเมินไว้ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่หากมีการปรับเพิ่มจะส่งผลต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าที่ 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งผลให้การส่งออกของไทยปีนี้ คาดว่าจะไม่ขยายตัว จากเดิมประมาณการจะขยายตัวได้ 3.2% ทำให้กดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ แต่หากมีสัญญาณบวกจากการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนมากขึ้น การส่งออกยังมีโอกาสเติบโตในแดนบวก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตัวเลขจีดีพีเอียงเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการใหม่ที่ 2.9-3.3% ได้

“แม้ตัวเลขจีดีพีทั้งปีอาจปรับตัวลดลง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งจีดีพีช่วงไตรมาส 1 น่าจะต่ำสุด ไตรมาส 2 ใกล้เคียง 3% และไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้น 3.2% เป็นผลมาจากการได้รัฐบาลใหม่เข้ามา และโจทย์ที่รัฐบาลต้องเจอคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องมีนโยบายเร่งด่วนในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อาทิ นโยบายประชารัฐ การประกันรายได้พืชผลเกษตร รวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ได้”

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดการณ์ว่าในวันที่ 26 มิ.ย. 2562 ที่ประชุม กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ไปถึงช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อดูแลเสถียรภาพควบคู่กับการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่มาก ขณะที่คาดการณ์ว่าเฟด อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 1-2 ครั้งในปีนี้ หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มอ่อนแรงลง

ในขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์นั้น เชื่อว่าตัวเลขการเติบโตทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 4.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5% ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เติบโตช้าตามบรรยากาศเศรษฐกิจ รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีที่คงทยอยรับรู้ผลกระทบจากการเร่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น แม้จะมีโอกาสปรับขึ้นในช่วงระหว่างปี โดยเฉพาะจากหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างไปแล้ว แต่ทั้งปีน่าจะรักษาระดับไว้ที่ 2.98-3% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.97-2.98%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน