สศอ. กุมขมับเอ็มพีไอไร้ปัจจัยบวก จ่อหั่นเป้าปีนี้ลงจาก 0-1% อีกรอบ หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกฤทธิ์ประคองศก. โค้งสุดท้ายดันแรงส่งถึงปีหน้า

ดัชนีอุตฯไร้ปัจจัยบวก – นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนส.ค. 2562 อยู่ที่ระดับ 100.58 หดตัว 4.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 105.22 สะท้อนภาพรวมภาคอุตสาหกรรมยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะอันใกล้ เนื่องจากบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลง ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกได้ยาก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัว 9.2%

นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) หดตัว 13.2% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.75% ส่งผลต่อภาคการผลิตในระยะข้างหน้าที่สะท้อนการผลิตยังไม่สดใส แต่ สศอ. ก็หวังว่าปลายปีนี้จะได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อในช่วงปลายปีที่กำลังจะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐวงเงิน 316,813 ล้านบาท จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และสร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปี 2563 ขยายตัวสูงขึ้นได้

“สศอ. ยอมรับดัชนีเอ็มพีไอเดือนก.ย. คาดหวังว่าจะไม่แย่ไปกว่านี้ โดยสศอ. คิดว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐจะทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 4-5 รอบ ทำให้เกิดกำลังซื้อช่วยประคองภาคอุตสาหกรรมให้เป็นบวกและพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้ในระยะสั้น แต่ก็ต้องติดตามปัจจัยต่างๆ เดือนต่อเดือน เพราะดัชนีชี้วัดขณะนี้ยังไม่มีทิศทางเป็บวกมากนัก ซึ่ง สศอ. จะรวบรวมข้อมูลเดือนก.ย. อย่างรอบด้าน หากไม่มีทิศทางเป็นบวกก็มีความเป็นไปได้ที่ สศอ. จะต้องทบทวนปรับประมาณการดัชนีเอ็มพีไอและผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปีนี้ลงจากปัจจุบันคาดไว้อยู่ที่ 0-1% หรือค่ากลางอยู่ที่ 0.5%”

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมรถยนต์เดือนส.ค. 2562 ยังลดลง 8.2% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทั้งจากยอดขายในประเทศที่ลดลง 6.9% และยอดส่งออกลดลง 20.5% เม็ดพลาสติกหดตัว 2.7% จากทิศทางราคาน้ำมันผันผวนหลังเกิดเหตุโจมตีโรงกลั่นที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย จึงต้องจับตาราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผลิตภัณฑ์พลาสติกในระยะข้างหน้า อาหารหดตัว 1.7% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ

ส่วนผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานจากการประเมินเบื้องต้นโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายประมาณ 2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ จ.อุบลราชธานี คาดได้รับความเสียหายประมาณ 500,000 ไร่ ซึ่ง สศอ. ประเมินว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว แต่ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกร อิเล็กทรอนิกส์หดตัว 4.1% ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางหดตัว 21.26% เคมีภัณฑ์หดตัว 3.7% เหล็กและเหล็กกล้าหดตัว 13.6% สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 18.13%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน