เริ่มนับหนึ่ง‘ไฮสปีด3สนามบิน’

‘กลุ่มซีพี’จัดให้-เล็งเปิดวิ่ง 2566

เริ่มนับหนึ่ง‘ไฮสปีด3สนามบิน’ ‘กลุ่มซีพี’จัดให้-เล็งเปิดวิ่ง 2566 – เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้วโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนที่ทำเนียบรัฐบาล

เริ่มนับหนึ่ง‘ไฮสปีด3สนามบิน’ ‘กลุ่มซีพี’จัดให้-เล็งเปิดวิ่ง 2566

ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยนายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) หรือ CPH มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตัวแทน

โครงการนี้ถือเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเส้นทางแรกของประเทศไทย มูลค่าลงทุนสูงถึง 224,544 ล้านบาท

รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนค่างานก่อสร้างโครงสร้างให้เอกชน 117,226 ล้านบาท พร้อมทั้งมอบที่ดินบริเวณมักกะสัน 150 ไร่ และรอบสถานีศรีราชา 25 ไร่ ให้เอกชนนำไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์

รวมถึงให้สิทธิ์การเข้าบริการการเดินรถในบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยให้สัมปทานเอกชนเข้าดำเนินการรวม 50 ปี

เริ่มนับหนึ่ง‘ไฮสปีด3สนามบิน’ ‘กลุ่มซีพี’จัดให้-เล็งเปิดวิ่ง 2566

ส่วนเอกชนจะต้องควักเงินลงทุนด้านระบบรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญา การบริหารการเดินรถ รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่ดินบริเวณโดยรอบเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ และต้องจ่ายค่าสิทธิการบริหารรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์แก่ รฟท. เป็นเงิน 10,671 ล้านบาท

โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมดแก่รัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยืนยันว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีต่อประเทศ มีผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจ ตลอดอายุโครงการมากถึง 652,152 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานระหว่างก่อสร้าง 16,000 อัตรา และในธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกกว่า 100,000 อัตราในอีก 5 ปีข้างหน้า

ที่สำคัญยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และยังมีมูลค่าเพิ่มการพัฒนา เมืองการบินภาคตะวันออกประมาณ 150,000 ล้านบาท

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์และ กลุ่มพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ยืนยันว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในไม่เกิน 1 ปี

แบ่งงานในกลุ่มเรียบร้อยแล้วโดย ช.การช่าง และอิตาเลียนไทย จะรับงานก่อสร้าง

ส่วนงานระบบรถ ขบวนรถ และอาณัติ สัญญาณ China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) จากจีนจะรับ ผิดชอบ

งานระบบเดินรถนั้นจะให้บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Ferrovie dello Stato Italiane S.p.A.) หรือ FS ซึ่งเป็นพันธมิตรจากอิตาลีเข้ามาดูแล คาดว่าจะก่อสร้าง วางระบบรถไฟแล้วเสร็จและเปิดเดินรถภายในปี 2566

ในช่วง 6 ปีแรก ซีพีถือหุ้นสูงสุดในสัดส่วน 51% เพื่อคุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการผลักดันงานให้เดินหน้าไปได้เร็ว

โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้มีแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง

เริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และท่าอากาศยาน อู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย

ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร รวม 9 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง บางซื่อ สถานีมักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และสถานีอู่ตะเภา

สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง และยังมีบริการขบวนรถความเร็วปานกลาง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไว้สำหรับการเดินทางในเมืองด้วย

อัตราค่าโดยสารจะอยู่ระหว่าง 115-490 บาท

นอกเหนือไปจากการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงแล้ว กลุ่ม CPH ยังต้องเร่งพัฒนาพื้นที่ดินเชิงพาณิชย์ อีก 2 แปลงที่ได้รับมอบมา เพื่อต่อยอดรายได้ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะหมดอายุสัมปทาน 50 ปี เพราะหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ารายได้จากการเดินรถเพียงอย่างเดียวคงไม่คุ้มค่าการลงทุน

ล่าสุดนายศุภชัยเตรียมทุ่มเม็ดเงิน 1.4 แสนล้านบาท เนรมิตพื้นที่บริเวณสถานีมักกะสัน ซึ่งอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ให้เป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ รองรับการเดินทางและแหล่งพักผ่อนกลางกรุง

นำพื้นที่ราว 2 ล้านตารางเมตร บริเวณสถานีมักกะสัน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของที่อยู่อาศัย โรงแรม เพื่อรองรับนักเดินทาง ท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่จะเดินทางมาลงทุนในเขตอีอีซี

สร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ ศูนย์การค้า รวมทั้งก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนารถไฟ

ส่วนพื้นที่ศรีราชายังไม่ได้เปิดเผยว่า จะพัฒนารูปแบบใด

โปรเจ็กต์นี้เอกชนต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลเพราะจะต้องลงทุนระบบรถไฟด้วย และต้องลงทุนการพัฒนาพื้นที่สร้างเมืองรอบสถานีด้วยเพื่อให้สัมปทานเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

ดังนั้น ซีพีจึงมีแนวคิดที่จะนำบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด จดทะเบียนเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของอีอีซี

ขณะนี้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาหารือรายละเอียดแล้ว

รวมทั้งยังมีแนวคิดที่จะระดมทุนผ่านกองทุน ‘ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์’ (TFF) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเนื่องจากเป็นตัวช่วยที่ดีต้องจับตาดูว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่ และจะมีนักลงทุนสนใจมากน้อยเพียงไหน

สําหรับกลุ่ม CPH ยื่นซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีราคา Net Present Value (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) อยู่ที่ 117,227 ล้านบาท

ต่ำกว่าข้อเสนอของทางกลุ่ม BSR ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) แล้วจะเห็นว่ามีรายชื่อของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เสนอมาในมูลค่า 169,934 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราว 52,707 ล้านบาท

อีกทั้งยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.มีมติอนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ในวงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท

ถือว่ากลุ่ม CPH ใจถึงพึ่งได้ที่กล้าเสนอราคานี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่รัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้มหาศาล

นับจากนี้คนไทยต้องตามดูความคืบหน้าของโครงการ เพราะนี่ถือว่าเป็นมิติใหม่ของวงการขนส่งมวลชนไทยเลยก็ว่าได้

อดใจรอไม่นาน…คนไทยกำลังจะมีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูงมุ่งสู่ภาคตะวันออกแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน