นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. อยู่ระหว่างติดตามและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ซึ่งกรณีเลวร้ายสุดคือ การเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้คนตกงาน 1 ล้านคน ทางส.อ.ท. ขอเสนอแนวทางให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว/ภาคบริการ และการค้าปลีก

“ขณะนี้หลายบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ได้ปรับตัวค่อนข้างมากเพื่อเตรียมพร้อมความรับมือกับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้น เช่น การทดสอบระบบให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหากการระบาดรุนแรงเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งบางกลุ่มอุตสาหกรรมอาจปรับตัวโดยให้พนักงานลางานโดยไม่รับเงินเดือน หรือยังคงทำงานอยู่แต่ปรับลดเงินเดือน หรือกรณีเลวร้ายสุดคือ การเลิกจ้าง จะส่งผลให้คนตกงาน 1 ล้านคน จึงอยากเสนอให้นำเงินจากกองทุนดังกล่าวประมาณ 20,000 ล้านบาท มาใช้ในการพัฒนาทักษะและฝีกอบรมบุคลากรที่ตกงานในรูปแบบของคูปองผ่านโครงการของรัฐบาล”

สำหรับแนวทางการจัดตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 นั้นรัฐบาลอาจต้องใช้วิธีกู้หรือออกพันธบัตรภาครัฐเพื่อระดมเงินโดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐดำเนินการ อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลาผ่อนชำระ 1 ปี นิติบุคคลละไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่ต้องมีเงื่อนไขผ่อนปรนกว่ากองทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาทเดิมของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ต้องยอมรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศซบเซา การดำเนินกิจการประสบปัญหาด้านการผลิต การจำหน่าย รวมทั้งการขนส่งสินค้าและนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนมีความล่าช้า โดยประเมินว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและกระจายไปทั่วโลก อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศหลังนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายส่งผลให้การบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง ประกอบกับปัญหาภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบการเกษตรลดลง การเบิกจ่ายงบประมาณโครงการก่อสร้างภาครัฐล่าช้ายังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างด้วย

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า เห็นได้จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. 2563 อยู่ที่ระดับ 90.2 ลดลง จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 92.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลงทั้งในเดือนปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าคาดอยู่ที่ระดับ 98.1 จาก 99.4 ต่ำสุดในระอบ 45 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.2559

“นานๆ ครั้งจะเห็นดัชนีความเชื่อมั่นปักหัวทิ่มลงทั้งหมดทั้งดัชนีฯ ปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เพราะยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของไทยหลายกลุ่มค่อนข้างมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งทบทวนว่าโรคระบาดมีต้นตอมาจากจุดไหน และต้องยอมรับว่าขณะนี้มีการพูดถึงเงื่อนไขการปิดเมืองกันมากขึ้น ซึ่งบรรยากาศที่เป็นอยู่ก็ไม่ต่างกับการปิดเมืองแล้ว และหากการแพร่ระบาดของโรคลุกลามไปสู่ระยะที่ 3 ก็คงต้องยอมรับเงื่อนไขการประกาศปิดเมืองอย่างเป็นทางการ”นายสุพันธุ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การประกาศปิดเมืองต้องคำนึงถึงผลกระทบเรื่องระบบขนส่งวัตถุดิบและสินค้าที่ใช้ในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมหลักซึ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่ยังต้องสามารถขนส่งวัตถุดิบ ผลิตและขนส่งสินค้าปลายน้ำเพื่อรองรับความต้องการได้ โดยยืนยันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ยังไม่มีการประกาศปิดกิจการเพิ่มเติมนอกเหนือจากผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ปิดกิจการไปก่อนหน้านี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน