นายพสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี/ภาควิชาพาณิชยศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนา “ฟันธงธุรกิจไทยครึ่งหลังปี 2560” จัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ช่วงครึ่งหลังที่เหลือของปี 2560 จะค่อนข้างเหนื่อยสำหรับภาคธุรกิจ นอกจากนี้ สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมปรับตัวเพื่อรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดคู่แข่งใหม่ๆ จากกลุ่มสตาร์ตอัพ หรือแม้กระทั่งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่กระโดดขึ้นมาสร้างธุรกิจใหม่บนออนไลน์มากขึ้น หรือแม้แต่ผู้เล่นจากต่างประเทศที่จะบุกเข้ามาในไทย ฉะนั้นข้อมูลจึงกลายเป็นปัจจัยที่ใช้ในการแข่งขันมากขึ้น ควบคู่กับการสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และปรับเปลี่ยนทิศทางการเติบโตผ่านการร่วมทุนและขยายสู่ตลาดเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีการเติบโตที่สอดคล้องกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลกำลังให้การส่งเสริม การบริหารจัดการต้องเน้นใน 3 เรื่องคือ องค์กร 4.0 ให้มีความหลากหลายมากขึ้นจากบุคลากรหลายเจเนอเรชั่นมาทำงานร่วมกัน การพัฒนาบุคลากร สำหรับองค์กรยุคใหม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้มีความรู้ความสามารถก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะที่ผู้นำ 4.0 ต้องมีความถ่อมตนทางปัญญา เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และกลยุทธ์ 4.0 คือการใช้มุมมองใหม่ มาสร้างกลยุทธ์ในการบริหารจัดการธุรกิจ พร้อมๆ ไปกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร

อย่างไรก็ดี การใช้ดาต้าในการประมวลผลวิเคราะห์ต่างๆ และการใช้ดิจิตอล ส่งผลทำให้ภายในสิ้นปี 2560 นี้ 5 ภาคธุรกิจมีโอกาสจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากการถูกเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน คือ 1. ธุรกิจด้านไอซีทีเทคโนโลยี จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 2. ธุรกิจมีเดีย ซึ่งที่ผ่านมาดิจิตอลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนไปค่อนข้างมาก 3. ธุรกิจปลีก หรือรีเทล ไม่เฉพาะการซื้อของผ่านออนไลน์ การซื้อของแล้วสามารถแบ่งปันประสบการณ์การซื้อหรือใช้สินค้า การบริการ การเที่ยว ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น 4. อุตสาหกรรมธนาคารและการเงิน จากเกิดขึ้นของฟินเทค ที่แพร่หลายมากขึ้น และ 5. การศึกษา ทั้งการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนแปลง

สำหรับการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยในภาวะที่การบริโภคในประเทศเติบโตไม่ได้มากอย่างที่คิด ดังนั้นองค์กรธุรกิจต้องขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการบริโภคในประเทศยังสูง เช่น กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม หรือรวมถึงประเทศอินโดนีเซีย สำหรับธุรกิจที่จะเติบโตในประเทศไทยได้ จะต้องพ่วงไปกับการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐ ธุรกิจที่จับกลุ่มเป้าหมายระดับฐานราก รวมถึงธุรกิจที่เติบโตไปกับเศรษฐกิจไทย คือ ธุรกิจด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และการทำสินค้าที่มีมูลค่าและมีคุณค่ามากขึ้น โดยมีเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้าใช้ในสินค้ามากขึ้น รวมถึงหลายบริษัทขนาดใหญ่มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับธุรกิจเกิดใหม่มากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถเติบโตจากธุรกิจเดิมได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน