นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวยืนยันว่า กฟผ. ไม่ได้เสนอการเก็บค่าไฟฟ้าสำรองต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามที่มีประเด็นข่าวว่า กฟผ. เสนอเรื่องให้ กกพ. จัดเก็บค่าระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) ที่ 100-200 บาท/เดือน สำหรับผู้ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังคงพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าของประเทศ

กฟผ. ขอชี้แจงว่า กฟผ. ไม่ได้เสนอการเก็บค่าไฟฟ้าสำรอง ต่อ กกพ. ตามข่าว ที่มาของประเด็นดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการสัมมนาสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2560 เรื่อง “นวัตกรรม กฟผ. 4.0” ซึ่ง กฟผ. แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศในการสัมมนาว่า ปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความนิยม และมีราคาถูกลง ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้มากขึ้น มีผลให้รูปแบบความต้องการไฟฟ้าในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงไป

โดยในช่วงเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดิน ความต้องการไฟฟ้าจะสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกประเทศจึงต้องเตรียมระบบรองรับไว้ เช่น การลงทุนโรงไฟฟ้าสำรองหรือแบตเตอรี่สำรองที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว เฉพาะช่วงที่ไม่มีแดดหรือในช่วงเย็น เป็นต้น ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ได้นำวิธีการต่างๆ มาใช้ รวมทั้งการคิดค่าไฟฟ้าสำรองสำหรับผู้ใช้รายใหญ่หรือรายย่อยที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพื่อการลงทุนโรงไฟฟ้าสำรองดังกล่าว แม้แต่ประเทศไทยในปัจจุบัน ก็มีการเก็บค่าไฟฟ้าสำรองสำหรับผู้ที่มีเครื่องปั่นไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังต้องการใช้ไฟฟ้าสำรองจากระบบด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กกพ. กำลังพิจารณาศึกษา “อัตราค่าไฟฟ้าสำรอง” ที่เหมาะสมสำหรับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปว่าขนาดกำลังผลิตติดตั้งเท่าใดจึงจะเข้าข่ายต้องถูกเรียกเก็บ

กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ ยืนยันสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่มีความเสถียร (ไฮบริด) โดยจัดทำแผนระยะยาว 20 ปี นอกจากนี้ จะมีการเตรียมระบบไฟฟ้ารองรับในการที่ประชาชนจะผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใช้เอง เช่น การมีแบตเตอรี่สำรอง โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ การสร้างระบบส่งไฟฟ้ารองรับในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาระบบสมาร์ตกริด มาช่วยการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้ระบบไฟฟ้ายังมีความมั่นคง และมีค่าไฟฟ้า เหมาะสมเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชนทั่วไป

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวคลาดเคลื่อนเรื่องการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าสำรองกับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทั่วประเทศนั้น ผมขอเรียนชี้แจงและยืนยันว่า “กกพ. ไม่มีนโยบายเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) จากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือที่เรียกว่า “โซลาร์รูฟท็อป” ประเภทใช้เองในบ้านอยู่อาศัย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ติดตั้งผลิตไฟฟ้าใช้ในปริมาณไม่มาก

แต่ประเภทกลุ่มโรงงาน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ ได้มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในปริมาณมาก เฉพาะบางช่วงเวลา ซึ่งจะผลิตใช้ในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ก็จะต้องมาขอใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืน ซึ่งในกลุ่มนี้หากในอนาคตเกิดการติดตั้งเพิ่มมากขึ้น อาจมีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้ารวมและต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศได้

“ขณะนี้ ทาง กกพ. กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อรองรับลักษณะการผลิตและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศในอนาคต” นายวีระพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการสำรองไฟฟ้าสูงถึงกว่า 30% ซึ่งสูงกว่าปกติที่เคยสำรอง 15% และยังไม่เกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ทั้งนี้ ข้อมูลปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรวม 60-70 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้มีกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่เข้าระบบอยู่เพียง 5 เมกะวัตต์ ซึ่งการดำเนินการคิดอัตราไฟฟ้ารูปแบบใหม่นี้ เป็นมาตรการที่จะรองรับปัญหาในอนาคตที่จะเกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน