รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย กล่าวถึงผลการวิจัย การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล : ความพร้อม การลงทุน และนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้อง ว่า การวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องคก์ารมหาชน) (International Institute for Trade and Development) ให้ดำเนินการศึกษาวิจัย โดยรัฐบาลไทยประกาศนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ความเป็นดิจิตอล เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศและนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการของไทย

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า นโยบายความพร้อมด้านดิจิตอลของไทยโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 เป็นแผนที่มีเป้าหมายกว้างมาก จับต้องยากและพิสูจน์ยาก ไม่มีกรอบระยะของเป้าหมายทำให้ตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำมาบรรลุเป้าหมายหรือไม่ รวมทั้งพบว่างบประมาณของกระทรวงกลับลดลงทุกปีทั้งที่กระทรวงน่าจะเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ ขณะที่งบประมาณที่ได้กลับกระจุกตัวที่การซื้ออุปกรณ์ไม่ใช่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และกฎระเบียบต่างๆ ของไทยก็ไม่ได้ทำมาเพื่อรองรับผลกระทบจากการแข่งขันของต่างชาติที่มีต่อบริษัทต่างชาติ ทั้งที่บริษัทข้ามชาติด้านดิจิทัลเข้ามาลงทุนไทยจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของคนในประเทศและการอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เข้ามาลงทุนในประเทศ

โดยสรุปประเด็นศักยภาพพื้นฐานทางด้านดิจิตอลในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559 พบว่าเพิ่มขึ้นในทุกมิติ ยกเว้นในส่วนของคุณภาพมนุษย์และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งไทยมีศักยภาพต่ำกว่า มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศ OECD อย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนใหญ่ดีกว่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ยกเว้นทางด้านทุนมนุษย์

รวมทั้งพบว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิตอลส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรอบอาเซียน เป็นไปในลักษณะการทำงานร่วมกันของประเทศสมาชิกเป็นการจับมือกันแบบหลวมๆ นโยบายในเรื่องดังกล่าวยังไม่ถูกจำกัดจากข้อผูกพัน แต่สำหรับ Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership (CPTPP) กลับพบว่าต่างมีข้อผูกพันในเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเสรีด้านดิจิตอลพร้อมๆ กับการจำกัดบทบาทของภาครัฐต่อการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอลโดยการห้ามมีข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายข้อมูลและการห้ามใช้ Data Localization Requirement (DLR) รวมถึงข้อตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)

“ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มีความพยายามจะเสนอให้ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP เรื่องนี้จะกระทบกับไทยเพราะภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวจะห้ามการทำ Data Localization Requirement (DLR) ซึ่งเราจะบังคับให้บริษัทด้านดิจิตอลที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยตั้งคลาวด์ให้อยู่ในประเทศไทยอย่างเดียวเราทำไม่ได้คำถามต่อมาคือกฎระเบียบต่างๆ ของเราพร้อมหรือยังเราเตรียมหรือยังรวมทั้ง RCEP ที่เราบอกว่าเราประสบความสำเร็จในการจัดประชุมมันก็จะมีผลในการกำกับดูแลในเรื่องของบริษัทด้านดิจิตอลต่างชาติเช่นกัน”

รศ.ดร.อาชนัน กล่าวว่า คณะผู้วิจัย จึงมีข้อเสนอแนะทางนโยบาย คือ แผนการปฎิรูปประเทศเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลต้องมีความชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ มีดัชนีวัดความสำเร็จ ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ภาครัฐต้องเร่งสร้างแรงจูงใจทางการการลงทุนด้านอื่นๆ นอกเหนือจากสิทธิพิเศษทางด้านการลงทุน มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการรองรับผลกระทบทางสังคม กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอลต้องติดตามปรับปรุงให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน