นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในวาระ 2 ซึ่งได้มีการขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน จนถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้ และคาดว่าจะส่งให้ สนช.พิจารณาในวาระ 3 ได้ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ภายเดือน ม.ค. 2562

“การขยายเวลาการพิจารณาในวาระ 2 ของ สนช.นั้น เพราะยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งมีส่วนภาษีสูงถึง 90% ดังนั้นการพิจารณาข้อมูลต่างๆ ต้องคิดจากข้อมูลการเสียภาษีจริงในปัจจุบันด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีภาระภาษีที่เหมาะสม ส่วนการยกเว้นภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยได้ลดลงมาเหลือ 20 ล้านบาท จะทำให้มีผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2% จากเดิมมีข้อเสนอให้เว้นภาษีที่ 50 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียภาษีเพียง 1% ของ 20 ล้านครัวเรือน” นายวิสุทธิ์ กล่าว

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ

ทั้งนี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะสร้างฐานการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินเป็นสำคัญ ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษีมีส่วนรวมในการตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากขึ้นว่ามีการนำภาษีที่เก็บได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นหรือไม่ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้เป็นหน้าที่ของ อปท. โดยมีการประเมินว่า พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้ อปท. สามารถจัดเก็บรายได้ปีละ 2.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 11-12% ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งถือว่าไม่มาก เพราะรัฐบาลก็ยังคงให้การอุดหนุนรายได้ให้กับท้องถิ่นอยู่

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า อัตราเพดานภาษีที่รัฐบาลเสนอให้ สนช. พิจารณา แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตรมีเพดานภาษี 0.2% และให้เว้นเก็บภาษีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่ดินมูลค่า 50-100 ล้านบาท ให้เก็บภาษี 0.05% และมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ให้เก็บ 0.10%

ประเภทที่ 2 เป็นที่ดินเพื่อยู่อาศัยเพดานภาษี 0.5% เว้นภาษีบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท บ้าน 50-100 ล้านบาท ให้เก็บภาษี 0.05% และเกิน 100 ล้านบาท เก็บ 0.10% สำหรับบ้านหลังที่ 2 มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้เก็บภาษี 0.03% บ้าน 50-100 ล้านบาท ให้เก็บบภาษี 0.05% และเกิน 100 ล้านบาท เก็บ 0.10%

ประเภทที่ 3 ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ และประเภทที่ 4 ที่ดินว่างเปล่า กำหนดเพดานภาษีไม่เกิน 2% โดยมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% มูลค่า 20-50 ล้านบาท เสีย 0.5% มูลค่า 50-100 ล้านบาท เสีย 0.7% มูลค่า 100-1,000 ล้านบาท เสีย 0.9% มูลค่า 1,000-3,000 ล้านบาท เสีย 1.2% และมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท เสีย 1.5%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน