เปิดไทม์ ไลน์ศึก‘รถไฟฟ้าสีส้ม’
รฟม.เดินหน้าประมูลรอบใหม่
: รายงานพิเศษ

 

เปิดไทม์ ไลน์ศึก‘รถไฟฟ้าสีส้ม’ รฟม.เดินหน้าประมูลรอบใหม่ : รายงานพิเศษ ถึงปัจจุบันงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มูลค่า 8.3 หมื่นล้านบาท จะคืบหน้าไปถึง 85.33% แต่การก่อสร้างส่วนต่อขยาย ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร กลับยังไม่ได้เริ่มต้น

เพราะเกิดข้อพิพาทฟ้องร้องกันระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจ้าของโครงการ กับผู้รับเหมาเอกชนที่เข้าร่วมการประมูล

รถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก มีเดิมพันมูลค่างานสูงถึง 1.28 แสนล้านบาท ทำให้ผู้รับเหมาบิ๊กเนมต้องต่อสู้กันอย่างดุเดือด เพราะมีเนื้องานสำคัญถึง 2 ส่วน คือ งานก่อสร้างงานโยธา ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ มูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท และงานจัดหารถไฟฟ้าและจ้างบริหารเดินรถตลอดเส้นทาง อีก 3.2 หมื่นล้านบาท สัมปทานยาวนานถึง 30 ปี

ถ้ารวมรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกจะมีระยะทางรวมถึง 35.9 กิโลเมตร ผ่านจุดสำคัญๆ ทั้งย่านเมืองเก่า เมืองใหม่ เช่น ศิริราช สนามหลวง ราชดำเนิน ผ่านใจกลางเมืองใหม่ ย่านศูนย์วัฒนธรรมฯ ต่อไปจนถึงมีนบุรี

เป็นโครงข่ายที่สามารถเชื่อมต่อกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเข้าด้วยกัน และเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าหลักได้ทุกสาย ตอบโจทย์ด้านรายได้ให้กับเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับ รฟม.ได้เป็นอย่างดี

หากย้อนดูไทม์ไลน์การดำเนินโครงการส่วนตะวันตก จะเห็นว่า รฟม.เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ช่วง ก.ค. 2563 โดย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ลงนามประกาศเปิดประมูลและขายซองเอกสารคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุน ตั้งแต่ช่วง 10-24 ก.ค. 2563

มีผู้รับเหมาแห่เข้ามาซื้อซองมากถึง 10 ราย ได้แก่ 1.บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม 2.บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

5.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด และ 10.บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด โดยกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 23 ก.ย. 2563

ระหว่างรอให้เอกชนยื่นซองเสนอราคา ราวต้นเดือน ส.ค. 2563 บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ทำหนังสือถึง ผู้ว่าการ รฟม. และ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรียกร้องให้ รฟม. ปรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอเอกชน

บริษัท อิตาเลียนไทยฯ อ้างว่าการคัดเลือกเอกชนโดยพิจารณาเฉพาะข้อเสนอด้านผลตอบแทนสูงสุดที่เอกชนเสนอให้รัฐ หรือข้อเสนอด้านราคาเพียงอย่างเดียว โดยไม่พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคการก่อสร้างชั้นสูง อาจจะทำให้โครงการเกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

เนื่องจากเส้นทางส่วนตะวันตกส่วนใหญ่เป็นทางใต้ดิน ซึ่งผู้รับเหมาจำเป็นจะต้องมีความชำนาญและมีเทคนิคงานก่อสร้างชั้นสูง เพราะต้องขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินระยะทางยาว โดยเฉพาะบริเวณใต้เกาะรัตนโกสินทร์ และการขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา จากบริเวณศิริราชข้ามมายังฝั่งท้องสนามหลวง

เป็นเหตุให้ช่วงปลายเดือนส.ค.2563 รฟม.ปรับแก้หลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอคัดเลือกเอกชนใหม่ โดยเพิ่มเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิคการก่อสร้างเข้าไปด้วยกับเกณฑ์ด้านราคา โดยให้สัดส่วนน้ำหนักคะแนน 30 ต่อ 70 ตามลำดับ แทนการพิจารณาเกณฑ์ด้านราคาเพียงอย่างเดียว

พร้อมประกาศเลื่อนวันยื่นซองเสนอราคาออกไปเป็นวันที่ 9 พ.ย. 2563 เพื่อให้ผู้รับเหมามีเวลาทำข้อเสนอใหม่ตามเกณฑ์ประมูลใหม่

การปรับเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน ทำให้ช่วงกลางเดือน ก.ย. 2563 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เเละ รฟม.กระทำการมิชอบด้วยกฎหมาย

ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการแก้ไขหลักเกณฑ์ และขอให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ รวมทั้งฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในคดี รฟม. กระทำละเมิด

ต่อมาช่วง ต.ค.2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับเกณฑ์ใหม่ ตามที่บีทีเอสร้อง

ขณะที่ รฟม.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ไปยังศาลปกครองสูงสุด และเดินหน้าเปิดให้เอกชนยื่นเสนอราคาประมูลในวันที่ 9 พ.ย. 2563 ซึ่งก็ปรากฏว่า มีเอกชนเข้ามายื่นเสนอราคาเพียง 2 รายเท่านั้น คือบีทีเอส คู่พิพาท และบีอีเอ็ม

ซึ่งต่อมา รฟม.มีหนังสือแจ้งไปยังเอกชน 2 ราย เลื่อนการเปิดซองข้อเสนอออกไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุด จะมีคำพิพากษากรณีถูกบีทีเอสฟ้อง แต่ผ่านไปกว่า 1 เดือน ยังไม่มีข้อสรุปทางคดี รฟม.อ้างว่าหากปล่อยเวลาออกไปอีก อาจส่งผลกระทบทำให้อายุของข้อเสนอของเอกชนทั้ง 2 รายจะสิ้นอายุ 270 วัน ก่อนขบวนการคัดเลือกจะเริ่มขึ้น

ทำให้เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 รฟม.ประกาศล้มประมูล โดยให้เหตุผลว่าการเซ็ตซีโร่ และแก้ปัญหาด้วยการ เปิดประมูลใหม่เป็นครั้งที่ 2 จะเกิดประโยชน์กับการดำเนินโครงการมากกว่า เพราะจะเดินหน้าได้เร็วกว่ารอคดีในชั้นศาล

การล้มประมูลทำให้บีทีเอสยื่นฟ้องรฟม.เพิ่มเติม อีก 2 คดี คือ

1.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการล้มประมูลเนื่องจากเป็นการทำละเมิด และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม. มีการดำเนินการคัดเลือกเอกชนหรือเปิดประมูลใหม่

และ 2.ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง กรณีที่ผู้ว่าการรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกได้ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก

ความคืบหน้าล่าสุดของ 3 คดี ปรากฏว่า คดีที่ 1.ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง จำหน่ายคดีการฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้ประเด็นพิพาทเรื่องแก้ไขหลักเกณฑ์ยุติลง คงเหลือแต่ข้อหาที่บีทีเอส ฟ้องให้ชดใช้ ค่าเสียหายในมูลละเมิดจำนวน 5 แสนบาท เท่านั้น

คดีที่ 2.ศาลปกครองสูงสุดได้มี คำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องข้อหาการกระทำละเมิด และคำขอห้ามคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.ดำเนินการคัดเลือกเอกชนหรือเปิดประมูลใหม่

โดยศาลมองว่าการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. ตามกฎหมาย คงเหลือแต่ข้อหาขอให้ศาลสั่งยกเลิกการยกเลิกการประกวดราคาล้มประมูลเท่านั้น

และ คดีที่ 3.ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบรับคำฟ้องของบีทีเอส โดยนัดคู่ความเพื่อกำหนดพยานและกำหนดประเด็นในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ แม้คดีจะยังคาศาลอยู่ถึง 3 คดี แต่ รฟม. ยืนกรานประกาศเดินหน้าคัดเลือกเอกชนต่อเนื่อง นัดประชุมคณะกรรมการ ม.36 เพื่อจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เตรียมเปิดขายซองเอกสารประกวดราคา ครั้งใหม่ได้ในเดือน ต.ค.นี้ และจะเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอช่วงเดือน ม.ค. 2565

คาดว่าจะใช้เวลาในการประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรองกับเอกชนที่ราว 3 เดือน ตั้งเป้าจะเสนอผลการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมา ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเดือน เม.ย. 2565 โดยยังมั่นใจว่า จะเปิดเดินรถส่วนตะวันออก ได้ในต้นปี 2568

และเปิดตลอดสายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2570 ตาม เป้าหมายเดิม

โดยคาดว่าน่าจะใช้ทีโออาร์ฉบับล่าสุดที่นอกจาก ดูวงเงินประมูลแล้ว ยังพิจารณาเทคนิคการก่อสร้างชั้นสูงด้วย เพื่อความปลอดภัยของการก่อสร้างและให้บริการ

ต้องจับตาดูว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะเริ่มก่อสร้างจริงได้เมื่อไหร่ และจะส่งผลให้การเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกต้องล่าช้าออกไปหรือไม่

เพราะถึงฝั่งตะวันออกจะสร้างเสร็จก่อน แต่ถ้ายัง ไม่ได้ตัวเอกชนที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารการเดินรถก็คงเปิดเดินรถไม่ได้ คนที่ต้องรับกรรมและเสียประโยชน์ หนีไม่พ้นประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน