รถไฟงบงอกหมื่นล้าน ลงทุนต่อขยายสีแดง 4 เส้น หลังอัพเดตผลการศึกษาดันงบทั้งเส้นทะลุ 1.8 แสนล้านบาท – คาดเปิดประมูล มิ.ย.65

รถไฟสีแดงงบงอกหมื่นล้าน – เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดงานการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ครั้งที่ 1 โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงในรูปแบบการประชุมทางไกล

นายคณพศ วชิรกำธร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงระยะที่ 1 ได้เปิดดำเนินการไปแล้วคือ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงคมนาคมลงทุนเองทั้งหมด โดยขณะนี้ รฟท. ร่งดำเนินโครงการระยะที่ 2 ส่วนต่อขยาย จำนวน 4 เส้นทางคือ 1. สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 ก.ม.

2. สีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 ก.ม. 3. สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 ก.ม. และ 4. สีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 ก.ม.

เบื้องต้นบริษัทที่ปรึกษาได้เริ่มทำการศึกษาและทบทวนความเหมาะสมโครงการเดิม คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาได้ในเดือนมิ.ย.ปี 2565 จากนั้นจะใช้เวลาอีก 14 เดือน เพื่อสรรหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี พร้อมกันทั้ง 4 เส้นทาง ซึ่งขณะนี้ มีการศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านเรียบร้อยแล้ว มีเพียง 1 เส้นทางคือ ช่วง รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยู่ระหว่างรอความเห็นจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม

“คาดว่ากลางเดือนเม.ย.ปี 2565 จะสามารถนำเสนอผลการศึกษาทบทวนโครงการให้ รถไฟฯ พิจารณาได้ จากนั้นจะเริ่มจัดทำทีโออาร์ เพื่อเปิดประมูลให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนแบบพีพีพี ให้สัมปทาน 50 ปี คาดว่าจะใช้เวลาราว 14 เดือน หรือ ราว มิ.ย. 2566 จะสามารถได้ตัวผู้ชนะการประมูลและลงนามในสัญญาก่อสร้างได้”

ทั้งนี้ คาดว่า ช่วง รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ตลิ่งชัน-ศาลายา และ ตลิ่งชัน-ศิริราช จะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนส.ค. 2566 – ก.ค. 2569 และเปิดให้บริการใน ปี 2569 ส่วน ช่วง บางซื่อ-พญาไทย-มะกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง จะเริ่มก่อสร้าง เดือนส.ค. 2566 – ม.ค.ปี 2571 และ เปิดให้บริการในปี 2571

นายมูฮัมมัดมูนิรต์ พิมพ์ประพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านการเงิน การลงทุน ของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า มีการทบทวนงบการลงทุนส่วนต่อขยายทั้ง 4 โครงการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันรวมทั้งราคาของวัสดุก่อสร้างพบว่า จะต้องมีการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน จาก เดิม 67,575 ล้านบาท เป็น 79,322 ล้านบาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 11,747 ล้านบาท ทั้งนี้ ส่งผลให้วงเงินลงทุนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้งระบบ หรือทั้ง 2 ระยะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 188,155 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในการเปิดประมูลพีพีพี ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางนั้น กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้เอกชนที่ชนะการประมูลจะต้องเข้ามารับภาระจ่ายคืนเงินลงทุนที่รัฐบาลใช้ในการดำเนินการโครงการรถไฟสายสีแดงเมืองระยะที่ 1 คืนให้แก่รัฐบาลด้วย จำนวน 108,833 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน