ลุยตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท! กพช.ไฟเขียวลดเงินส่งเข้ากองทุนฯ เป็นเวลา 1 ปี เหลือแค่ 145-150 ล้านบาท จาก 3,500 ล้านบาท พร้อมปรับหลักเกณฑ์ขยายเพดานกู้ได้เกิน 20,000 ล้านบาท หากมีความจำเป็น

วันที่ 5 พ.ย.64 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติเห็นชอบลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตา ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือภายในปี 2565 ส่งผลให้การเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ จะเหลือประมาณ 145-150 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่เคยเก็บอยู่ประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี และปี 2566-67 จะเก็บในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบให้ทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2563-2567 เพื่อรับรองกรณีมีการเปลี่ยนแปลงวงเงินกู้ โดยให้การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีจำนวนเงินเพียงพอสำหรับใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ต้องไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท ตามมาตรา 26 แห่ง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

“ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯ มีเงินอยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งหากขยายเพดานเงินกู้ที่รวมกับเงินกองทุนน้ำมันฯ แล้วไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ขณะนี้จะสามารถกู้ได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่เบื้องต้นจะกู้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาทก่อน เพราะเชื่อว่าจะเพียงพอสำหรับดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทไปได้ถึงเดือนเม.ย.2565 และเชื่อว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าจะมีเงินกู้ส่วนนี้เข้ามาดำเนินการได้ในช่วงกลางเดือนม.ค.-ก.พ.2565”

อย่างไรก็ตาม การทบทวนแผนรองรับวิกฤตครั้งนี้ เป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการบริหารกองทุนน้ำมันฯ และกิจการอื่นที่เกี่ยวกับ หรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดการกิจการของกองทุนน้ำมันฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10-50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินการแต่ละโครงการต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน