น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) เป็นวาระแห่งชาติ จะเป็นแนวทางในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยการใช้จุดแข็งที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการสร้างความสมดุลจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการอนุรักษ์ ซึ่งคาดว่าในอีก 5 ข้างหน้าอุตสาหกรรม BCG ของไทยจะมีมูลค่า 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

ทั้งนี้ เห็นได้จากแนวโน้มในช่วง 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2564) มีสัญญาณบ่งชี้อัตราเติบโตที่ดี โดยมีกิจการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 564 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 74% มูลค่าลงทุน 128,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 160% และสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในปี 2563 ทั้งปีมีมูลค่า 93,883 ล้านบาท

แต่ปี 2565 จะมูลค่าการลงทุนรวมจะมีโอกาสขยับไปถึง 1 ล้านล้านบาทได้หรือไม่นั้น ต้องติดตามปนะเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอีกครั้ง เพราะหลายธุรกิจกำลังปรับเปลี่ยนซับพลายเชน อาจเป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนไทย ประกอบกับการส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดี เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังจะสะท้อนได้จากสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการในกลุ่ม BCG มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ถึงเดือนก.ย. 2564 มีจำนวน 2,829 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 677,157 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกกิจการ BCG ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด อันดับ 1 คือ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (รวมถึงไฟฟ้าจากขยะ) 289,007 ล้านบาท

รองลงมา ได้แก่ กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) หรือสิ่งปรุงอาหาร (Food Ingredient) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย 94,226 ล้านบาท กิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปต่อเนื่องจากการผลิตโพลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในโครงการเดียวกัน 40,998 ล้านบาท กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร 25,838 ล้านบาท และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ 22,250 ล้านบาท

ปัจจุบันบีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมาตรการด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล เช่น มาตรฐานการรับรองป่าไม้ตามแนวทางขององค์การพิทักษ์ป่าไม้ (Forest Stewardship Council: FSC) เป็นต้น

มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ครอบคลุมถึงการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการพัฒนากิจการเกษตรที่ยั่งยืน เช่น การปลูกข้าวแบบปล่อยมีเทนต่ำ เป็นต้น การปรับปรุงประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์ โดยให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม คือ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโรงแยกก๊าซ ในกรณีใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และกิจการห้องเย็น หรือกิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น หากใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน