หอการค้าชี้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคต.ค. สูงสุดรอบ 10 เดือน คนเริ่มใช้จ่ายซื้อรถ-บ้าน – คาดปีหน้าเศรษฐกิจกลับมาโตปกติเหมือนก่อนเกิดโควิด

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคพุ่ง – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจม.หอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนต.ค.ปี 2565 ว่า ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 44.6 เป็น 46.1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และสูงสุดในรอบ 10 ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น

ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินลดลงอย่างจากช่วงครึ่งปีแรก แต่ค่าดัชนียังคงต่ำกว่า 100 ซึ่งเป็นค่าปกติ เนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลเรื่องของจากปัญหาค่าครองชีพและเงินเฟ้อสูง รวมถึงการหดตัวของเศรษฐกิจโลก

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม โอกาสหางานทำ และรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 40.0 43.6 และ 54.8 ตามลำดับ ก็ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเช่นกันเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนก.ย. ขณะที่ผลสำรวจภาวการณ์ใช้จ่ายผู้บริโภคเดือนต.ค. 2565 พบว่าดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์ คันใหม่ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 5 จุด จาก 42.4 ในเดือนก.ย. เป็น 47.5 ในเดือนต.ค. ส่วนดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ ก็ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 จุด จาก 25.5 เป็น 29.8 ชี้ให้เห็นว่าคนเริ่มออกมาใช้จ่ายมากขึ้น

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชน) เดือนต.ค. 2565 ว่า ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 49.9 เข้าใกล้กับ 50 ซึ่งเป็นค่าปกติแล้ว ทั้งนี้ หากจำแนกตามภูมิภาคจะเห็นว่าความเชื่อมั่นภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินระดับ 50 ทุกภาค ยกเว้น กทม.และปริมณฑล ยังอยู่ในระดับ 48.9 ชี้ให้เห็นว่าภาคธุรกิจมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะกำลังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภาคท่องเที่ยว การค้าชายแดนเริ่มฟื้น เป็นต้น

“ทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในเดือนต.ค. ปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นแล้ว และกำลังจะหลุดพ้นจากโควิด ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.3-3.5% ส่วนปีหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ตามปกติเหมือนก่อนโควิด โดยขยายตัวได้ที่ 3.5-4%”

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจยังกังวลเกี่ยวกับ ผลกระทบจากน้ำท่วม, ต้นทุนการบริหารจัดการสูงขึ้นจากภาวะดอกเบี้ย, ภาวะหนี้ครัวเรือน จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ประสบภัย, หามาตรการดูแลต้นทุนของปัจจัยการผลิตของธุรกิจ, รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน และให้เอื้อต่อธุรกิจส่งออกนำเข้า

ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ด้านการตลาดและมาตรฐานการผลิตและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ, เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบโดยปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ รวมถึงออกมามาตรการรองรับและการจัดการระบบเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศในช่วงปลายปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน