นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการใช้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย จากการทำงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งในปี 2561 ก็ยังมีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลอยู่กว่า 4.5 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่ายังไม่เพียงพอต้องมีการทำงบกลางปีเพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็นการทำงบประมาณขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการทำงบขาดดุลแบบดูกำลังของประเทศ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 42% ซึ่งถือว่าไม่สูงมาก

รมว.คลัง กล่าวว่า การทำงบขาดดุลเพิ่ม ไม่ใช่เป็นการเอาเงินไปแจกซี้ซั้ว แต่เป็นการนำเงินไปใช้ในการลงทุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตามแผนในปีนี้จะเริ่มมีการก่อสร้าง และเงินลงทุนภาครัฐจะเริ่มกระจายออกไป โดยเฉพาะการดูแล 3 เรื่อง คือ 1.ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านราย ให้มีงานทำ มีรายได้เพิ่ม 2.การรีฟอร์มภาคการเกษตร เปลี่ยนการปลูกพืชที่ไม่สามารถขายได้ ซึ่งจะดูในแต่ละพื้นที่ และ 3.จัดงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับตำบล

นอกจากนี้ ในปี 2561 คลังจะยังเร่งนโยบายสำคัญ เช่น การรับจ่ายเงินภาครัฐ จะต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมทั้งในส่วนที่ประชาชนมาติดต่อกับภาครัฐด้วย และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ต้องทำแบบเข้มข้น ซึ่งปลัดกระทรวงการคลัง เร่งดำเนินการอยู่ และมีเป้าหมายให้หนี้นอกระบบเป็นศูนย์

“การเทกออฟเศรษฐกิจไทย แน่นอนว่าจะต้องมีความมั่นคง จากเดิมที่ต้องมีการคาดเข็มขัด มีมาตรการป้องกันต่างๆ แต่ตอนนี้เราเทกออฟได้อย่างมั่นคงแล้ว ไม่มีความเสี่ยง เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 2 แสนล้านเหรียญ ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก อีกทั้งหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 42%”นายอภิศักดิ์ กล่าว

ส่วนเรื่องภาษี ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตรา แต่จะพยายามดูในเรื่องของการขยายฐานการจัดเก็บ คนที่ไม่เคยเสีย หรือเสียไม่ถูกต้อง ก็ต้องทำให้ถูกต้อง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีรายอื่น โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคลังได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีเดียว ออกพระราชกฤษฎีกาไม่มีโทษย้อนหลัง ซึ่งมีเอสเอ็มอีมาเข้าร่วมกว่า 5 แสนราย ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งมีการเสียถูกต้องแล้ว ซึ่งต้นปี 2562 หากผู้ประกอบการรายใดต้องการขอสินเชื่อ ก็จะต้องใช้ข้อมูลยื่นเสียภาษีร่วมด้วย หากยื่นเสียภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ

นอกจากนี้ คลังจะพยายามจัดเก็บภาษีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งไม่เคยเสียภาษีถูกต้อง ก็จะต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากรายจ่ายในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน