นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเห็นผู้บริหารส.อ.ท. (โพลส.อ.ท.) ครั้งที่ 30 ในเดือนมิ.ย. 2566 หัวข้อ “การส่งออกหดตัว กระทบอุตสาหกรรมแค่ไหน” พบว่าการส่งออกของไทยส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน เห็นได้จากเดือนพ.ค. 2566 มีมูลค่าการส่งออก 24,340.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.6% ส่งผลให้ภาพรวม 5 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2566) มีมูลค่า 116,344.2 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 5.1% ส่งผลให้ภาพรวมการผลิตเพื่อส่งออกสินค้า 5 เดือนส่วนใหญ่มีทิศทางหดตัวตามไปด้วย แม้จะมีบางอุตสาหกรรมที่ยังสามารถรักษาระดับการส่งออกไว้ได้

“หากจะทำให้การส่งออกไทยกลับมามีมูลค่าเท่ากับปี 2565 หรือเป็นบวกนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าจะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนในช่วงที่เหลือของปีนี้ มากกว่า 24,024 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งช่วยกระตุ้นการส่งออก และบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว โดยเฉพาะการออกมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ เช่น ค่าไฟฟ้า พลังงาน โลจิสติกส์ เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ส่งเสริมให้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในเอฟทีเอฉบับเดิมให้มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเป้าหมายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ”

ทั้งนี้ การส่งออกที่หดตัว เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ จีน และอาเซียน เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีนที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ ยังคงส่งผลกระทบทำให้ภาคการส่งออกไทยและอีกหลายประเทศหดตัวไปในทิศทางเดียวกัน

โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าของอุตสาหกรรมหดตัว อันดับ 1 ผู้บริหาร ส.อ.ท. 69.5% มองว่าเกิดจากปัจจัยภายในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ/ชิ้นส่วน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อันดับ 2 ผู้บริหารส.อ.ท. 49% มองว่าเกิดจากการแข่งขันระหว่างธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น

อันดับที่ 3 ผู้บริหาร 37.1% มองว่าเกิดจากภาวะอุปทานล้นตลาดและสินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายโรงงานต้องลดการผลิตลง และอันดับที่ 4 ผู้บริหาร 31% มองว่าเกิดจากต้นทุนค่าขนส่ง โลจิสติกส์ภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง

ส่วนปัจจัยภายนอกที่ทำให้การส่งออกสินค้าของอุตสาหกรรมหดตัว อันดับที่ 1 ผู้บริหาร 71.4% เห็นว่าเกิดจากคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว อันดับที่ 2 ผู้บริหาร 30.5% เห็นว่าเกิดจากสินค้าจีนทะลักเข้ามาตีตลาดในประเทศคู่ค้า เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน

อันดับที่ 3 ผู้บริหาร 29.5% เห็นว่าเกิดจากปัญหาวัตถุดิบ/ชิ้นส่วน อุปกรณ์ที่ยังขาดแคลนและราคาแพง และอันดับที่ 4 ผู้บริหาร 28.1% เห็นว่าเกิดจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศปรับตัวลดลงตามฤดูกาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน