นางอุมากมล สุนทรสุรัตน์ ผู้ช่วยผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 ว่า เมื่อเปรียบเทียบรายได้ และรายจ่ายกลุ่มตัวอย่าง พบว่า คนส่วนใหญ่ 65.8% รายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย, 32% รายได้เท่ากับรายจ่าย และ 2.2% รายได้มากกว่ารายจ่าย

อาชีพ รับจ้างทั่วไป เกษียณอายุ และเกษตรกร เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่พอจ่ายมากที่สุด ส่วนใหญ่แก้ปัญหาด้วยการกู้ยืม โดย 29.2% กู้เงินสดจากบัตรเครดิต, 18.8% กู้จากธนาคารพาณิชย์, 17.2% กู้จากธนาคารเฉพาะกิจ, 9.9% กู้จากนายทุน เป็นต้น

ทั้งนี้ ค่าครองชีพในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ โดยคนส่วนใหญ่กว่า 70% ตอบว่ามีผล กระทบปานกลางถึงมาก ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายไม่เป็นไปตามแผน ใช้จ่ายเกินตัว และดึงเงินอนาคตมาใช้ โดยส่วนใหญ่เป็นที่อยู่ในเจน Y และเจน Z

เมื่อเปรียบเทียบหนี้กับรายได้ในปัจจุบัน พบว่า 54.7% มีหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้เพิ่ม, 41.9% มีหนี้เพิ่มเท่ากับรายได้ และ 3.4% หนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้เพิ่ม และในอนาคตคาดว่าจะก่อหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้เพิ่มอีก โดยหนี้ส่วนใหญ่ เป็นหนี้ส่วนบุคคล รองลงมาคือ บัตรครดิต ที่อยู่อาศัย หนี้ยานพาหนะ การประกอบธุรกิจ และการศึกษา

นางอุมากมล กล่าวว่า หนี้บัตรเครดิตส่วนใหญ่ 28.5% นำไปใช้จ่าย เพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค รองลงมา 22.8% ซื้อสินค้าคงทน, 18.4% ใช้หนี้เดิม เป็นต้น ส่วนความสามารถในการชำระหนี้สำหรับหนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต ส่วนใหญ่ชำระหนี้ได้น้อย

ปัจจุบันคนไทยมีภาระหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 559,408 บาท/ครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้ ในระบบ 80.2% และนอกระบบ 19.8% และมีภาระต้องชำระหนี้ 16,742 บาท/เดือน สาเหตุของการเป็นหนี้ 16.8% เกิดจากค่าครองชีพสูงขึ้น, 16.2% มีการซื้อสินทรัพย์ถาวร, 13.8% รายได้ไม่พอจ่าย และ 12.9% ลงทุนในธุรกิจ เป็นต้น โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ 75.6% เคยผิดนัดชำระหนี้ และ 24.4% ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ สาเหตุที่ผิดนัดคือ รายได้ลดลง เศรษฐกิจไม่ดี ตกงาน มียอดชำระเพิ่ม เป็นต้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย กล่าวว่า ในปี 2566 คนไทยมีภาระหนี้ครัวเรือนละ 5.6 แสนบาท เป็นวงเงินที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปีตั้งแต่มีการสำรวจ แต่ยังไม่ใช่จุดพีกคาดว่าปีหน้าจะสูงขึ้นอีก เนื่องจากคนไทยยังมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย จากภาระค่าครองชีพ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ภาวะสงครามการค้าโลกยืดเยื้อ ขณะที่เศรษฐกิจไทยโตผิดแผนยังไม่ฟื้น ทำให้คนจะก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นอาจทำให้เอ็นพีแอลสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ในระบบทำให้สามารถบริหารจัดการได้จึงยังไม่น่าห่วง ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่ออนาคต เพื่อซื้อบ้านซื้อรถ ซึ่งหนี้เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยปัจจุบันไทยมีหนี้ครัวเรือนเป็นสัดส่วน 90% ต่อจีดีพี คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปีจึงจะสามารถดูแลให้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลงเหลือ 80% ต่อจีดีพี








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน