แบงก์ชาติ ชี้ตั้งรัฐบาลช้า ฉุดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ กลุ่มเปราะบางแบกค่าครองชีพพุ่ง ส่งออกยังติดลบ ส่วนท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่อง

วันที่ 31 ก.ค. 2566 น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า หรือลากยาวมากๆ นั้น อาจจะมีผลกระทบในเรื่องความเชื่อมั่นมากกว่า ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณมองว่า ในแง่เม็ดเงินจากงบรายจ่ายประจำยังไปได้ตามกรอบเดิม แต่ที่อาจจะล่าช้าคืองบลงทุน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งก่อนได้มองแล้วว่าปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าไปบ้าง

“อย่างที่บอกว่าผลกระทบขึ้นอยู่กับระยะเวลา แต่ถ้าลากยาวมากๆ อาจมีผลกระทบในเรื่องความเชื่อมั่น โดยภาพรวมอยากให้รอทาง กนง. ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 2 ส.ค. นี้ รวมถึงอยากให้ดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะเห็นภาพจริงว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ภาพเศรษฐกิจไทยจะออกมาเป็นอย่างไร”

น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ยอมรับว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่ต้องจับตา เพราะจะมีผลกับเศรษฐกิจไทย คือ ปัญหาเศรษฐกิจและการเงินโลก ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอลง และต้องดูว่าจะยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์หรือไม่ รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นหากลากยาว รวมถึงสถานการณ์ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง โดย กนง. จะมีการทบทวนความเสี่ยงต่างๆ ทั้งหมดอีกครั้ง

น.ส.ชญาวดี กล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2566 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.4 ล้านคน ส่งผลให้ภาคบริการและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว

น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ในระยะต่อไปภาคการท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ สะท้อนจากปริมาณการค้นหาเกี่ยวกับ Air และ Accommodation ในไทยของต่างชาติ การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ด้านการส่งออกสินค้า ติดลบ 5.6% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากการผลิตยานยนต์และหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก

น.ส.ชญาวดี กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย. 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.24 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและจีน รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ หลักๆ มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ โดยเฉพาะทุเรียนภาคใต้ไปจีน ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทรงตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม

น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ภาพรวมการส่งออกในเดือน มิ.ย. 2566 ยังติดลบที่ 5.9% ขณะที่แนวโน้มการส่งออกในเดือน ก.ค. มองว่ายังไม่น่ากลับมาเป็นบวกได้ จะยังเห็นการส่งออกติดลบอยู่บ้าง ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่คิดว่าน่าจะยังทรงตัวไปก่อน ภาพรวมส่งออกน่าจะกลับมาดีขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งทิศทางเศรษฐกิจภาพรวมในช่วงนี้ การส่งออกอาจจะยังมีความเสี่ยงทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องติดตามต่อไป

“การส่งออกน่าจะยังทรงตัว จากดัชนีชี้นำการส่งออกในหลายตัวที่มีแนวโน้มทรงตัวในระยะข้างหน้าตามแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะทรงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ปลายปีน่าจะปรับดีขึ้นตามวัฎจักรของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์”

น.ส.ชญาวดี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนในเดือน มิ.ย. 2566 ติดลบ 0.3% จากการใช้จ่ายเกือบทุกหมวด อาทิ หมวดสินค้าคงทน เช่น การจำหน่ายรถยนต์ และรถจักรยานยานต์ที่ชะลอตัวลง เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และการส่งมอบไปในช่วงก่อนหน้า, สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม

น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ส่วนหมวดสินค้าไม่คงทน จากยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่รวมแอลกอฮอล์และยาสูบ ที่เร่งตัวไปในช่วงก่อนหน้าจากการใช้จ่ายตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนหมวดบริการทรงตัวตามการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรม ภัตตาคารและการขนส่งผู้โดยสาร ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงหลังจากเร่งไปแล้วในเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีกาคบริการ ขยายตัวที่ 1.0% โดยเฉพาะโรงแรม ภัตตาคาร การขนส่งผู้โดยสารที่ฟื้นตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 0.23% จากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ตามราคาเนื้อสุกรและผักสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงมาอยู่ที่ 1.32% จากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าที่มูลค่าการส่งออกปรับดีขึ้น ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่ลดลงจากเดือนก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน