นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ปี 2566 ว่า เดือนธ.ค. 2566 การส่งออกมีมูลค่า 22,791.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.7% การนำเข้า มีมูลค่า 21,818.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.1% โดยเกินดุลการค้า 972.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนการส่งออกทั้งปี 2566 มีมูลค่า 284,561.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 289,754.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.8% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 5,192.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 31,024 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.9% เครื่องคอมพิวเตอร์ 17,825 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.3% อัญมณีแลเครื่องประดับ 14,787 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.2% ผลิตภัณฑ์ยาง 13,248 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.7% และน้ำมันสำเร็จรูป 10,213 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.6%

ตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ไก้แก่ สหรัฐอเมริกา 48,864 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 17.2% จีน 34,164 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12% ญี่ปุ่น 24,669 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.7% และออสเตรเลีย 12,106 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.3%

“ปี 2566 การส่งออกติดลบเพียง 1% น้อยกว่าที่หลายๆ หน่วยงานคาดว่าจะติดลบที่ 2% เนื่องจากภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันอัดกิจกรรมการส่งออก สินค้าที่ทำให้ภาพรวมส่งออกติดลบน้อยลง คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไทยส่งออกได้มากถึง 31,024 อัญมณีส่งออกได้ 14,787 รวมทั้งยังส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าว ส่งออกได้ 5,144 ขยายตัวมากถึง 29% ไก่แปรรูป 2,741 ขยายตัว 6.5% และเมื่อเทียบกับภูมิภาคถือว่าส่งออกไทย หดตัวน้อยสุดที่ 1% ขณะที่ เวียดนาม หดตัว 4.8% มาเลเซีย หดตัว 11.1% จีน หดตัว 4.6% อินโดนีเซีย หดตัว 11.3%”

สำหรับการส่งออกในปี 2567 ตั้งเป้าเติบโตเป็นบวกที่ 1-2% หรือคิดเป็นมูลค่า 280,000-290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจัยบวกการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การจำกัดปริมาณการส่งออกข้าวของอินเดียทำให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ท่านกลางปัญหาภัยแล้งที่ประเทศต่างต้องเร่งสั่งซื้อสินค้าเกษตรเพื่อสำรองอาหาร และการจับจ่ายใช้สอยของโลกเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง

โดยปีนี้มีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกมากกว่า 400 กิจกรรมในประเทศต่างๆ ทั้งการบุกตลาดเมืองรอง และการขับเคลื่อนการเจรจา FTA ภายใต้ นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของรัฐบาล ซึ่งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อผลักดันการส่งออกไทยให้เติบโตเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการส่งออกในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะปัญหาการจีมตีเรือสินค้าในทะเลแดงที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการส่งออก และนำเข้าสินค้าไทยต้องเปลี่ยนเส้นทาง อ้อมไปทางแอฟริกาใต้แทน สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล อัญมณีและเครื่อง ประดับ ส่วนสินค้านำเข้า เช่น ยาและเวชภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องมือทางวิทยาศาตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวสูงยังกดดันการลงทุนใหม่ของภาคเอกชนอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน